คมนาคมชง ตร.แก้กม.จราจร ผ่อนผันนั่งท้ายรถกระบะ-แค็บได้เหมือนเดิม

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมาได้เข้าพบกับนายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณี พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 บังคับห้ามไม่ให้มีการนั่งโดยสารบริเวณกระบะท้ายและแค็บรถกระบะ โดยได้หารือเกี่ยวกับกฎหมายที่จะนำมาแก้ปัญหา ซึ่งรัฐมนตรีช่วยแจ้งว่า ขณะนี้ผู้บริหารระดับนโยบายในรัฐบาลทุกหน่วยงานมีความเห็นตรงกันแล้วว่า มีความจำเป็นจะต้องผ่อนผันและผ่อนคลายกฎหมายจราจร เพื่อให้มีการใช้รถให้สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ และวิถีชีวิตของคนไทย เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมจะเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายจราจร ออกข้อบังคับผ่อนผันเรื่องการบรรทุก ซึ่งตามกฎหมายให้อำนาจพนักงานจราจรสามารถออกข้อบังคับและประกาศบังคับใช้ได้ทันที

“กระทรวงคมนาคมเตรียมจะเสนอให้ ตร.ออกข้อบังคับเพิ่มเติม เพื่อผ่อนผันให้นั่งกระบะท้ายและแค็บได้ ซึ่งตามกฎหมาย ตำรวจออกกำหนดข้อบังคับเพิ่มเติมได้ และยังสามารถออกข้อบังคับควบคุมความปลอดภัยเกี่ยวกับการบรรทุกได้อีกด้วย เช่น อาจจะออกข้อกำหนดจำนวนบรรทุกหรือความเร็วในการขับขี่ขณะบรรทุกด้วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัย แต่จะออกข้อบังคับผ่อนผันชั่วคราว หรือผ่อนผันตลอดไปหรือไม่อย่างไร และจะนำข้อบังคับการผ่อนผันมาประกาศบังคับใช้เมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ตร.” นายสนิทกล่าว

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลอยากให้การใช้รถใช้ถนนเป็นไปตามวิถีการดำรงชีวิตของประชาชน ไม่ให้มีอุปสรรคขัดข้อง แต่ในระยะยาวเป้าหมายเรื่องของความปลอดภัยยังเป็นเป้าหมายหลัก การทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องของความปลอดภัยยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมการขนส่งทางบกจะมีการหารือกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 จะเน้นการกำกับดูแลรถให้เกิดความปลอดภัย ส่วน พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 จะเน้นการใช้รถให้เกิดความปลอดภัย ดังนั้นข้อสรุปสุดท้ายจะต้องรอผลการหารือร่วมกันก่อน

แหล่งข่าวจากกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า วันเดียวกัน (18 เม.ย.) ทาง ขบ.ได้นัดหมายหารือกับทางตำรวจแล้ว โดยได้ประชุมร่วมกันที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อย่างไรก็ตาม การหารือครั้งนี้ยังไม่มีบทสรุป ต้องมีการนัดหมายเพื่อประชุมร่วมกันอีกครั้ง