แนะเทรนด์ส่งออก ปี 2567 สินค้า “รักษ์โลก ผู้สูงอายุ ผู้หญิง” มาแรง

แนะเทรนด์ส่งออก ปี 2567 สินค้า “รักษ์โลก ผู้สูงอายุ ผู้หญิง” มาแรง
แนะเทรนด์ส่งออก ปี 2567 สินค้า “รักษ์โลก ผู้สูงอายุ ผู้หญิง” มาแรง

แนะเทรนด์ส่งออก ปี 2567  สินค้า “รักษ์โลก ผู้สูงอายุ ผู้หญิง” มาแรง

การส่งออกของไทยในปี 2566 อาจขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ เนื่องจากเจอปัญหาจากปัจจัยภายนอกประเทศรุมเร้า เช่น ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาพลังงานปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีนส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราต่ำกว่าที่คาดการณ์ แม้การส่งออกในภาพรวมอาจเติบโตไม่ดีนัก

แต่การส่งออกของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อย และขนาดย่อม (Micro, Small and Medium Enterprises : MSMEs) กลับมีอัตราการเติบโตสูงสวนทางกัน และมีโอกาสที่การส่งออกโดยรวมของไทยในปี 2567 จะเติบโตดีกว่าในปี 2566 จากการฟื้นตัวของตลาดส่งออกในบางประเทศ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้าอาจชะลอตัวจากปัจจัยเดิมๆ แต่ดัชนีชี้วัดสภาวะส่งออกล่วงหน้า (EXIM Index) เริ่มมีการขยับไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งโมเมนตัมการส่งออกที่มีสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566 เป็นต้นไป

จะช่วยหนุนให้การส่งออกปี 2567 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวและกลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรได้รับผลบวกจากเอลนีโญ ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันสูงขึ้น ปัญหาด้านอุปทานคลี่คลาย ค่าระวางเรือลดลง สถานการณ์ขาดแคลนชิปดีขึ้น ความต้องการสินค้าไทยยังมีโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร

ทั้งนี้ เศรษฐกิจแต่ละประเทศที่เป็นคู่ค้าจะเติบโตหรือชะลอตัวแตกต่างกันไปตามพื้นฐานเศรษฐกิจ ในภาวะที่ตลาดโลกยังไม่แน่นอนและมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ ผู้ประกอบการควรศึกษาตลาดเชิงลึก กระจายความเสี่ยงและสร้างโอกาสให้ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับการผลิตสินค้าให้เข้ากับเมกะเทรนด์ของโลกในขณะนี้ ซึ่งได้แก่ สินค้าในกลุ่ม Sustainable Economy หรือสินค้ารักษ์โลก เป็นสินค้าที่มีศักยภาพมีแนวโน้มขยายตัวแรง ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค

ดร.รักษ์ กล่าวว่า ตลาดจัดการธุรกิจให้มีความยั่งยืนของโลก มีอัตราการเติบโตสูงเฉลี่ยที่ 21% ต่อปี นับจากช่วงปี 2565-2572 จาก 13,760  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 51,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2572 และจากผลสำรวจของ McKinsey พบว่า 70% ของผู้บริโภค Gen Z ยินดีที่จะซื้อสินค้าที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

“การจัดการธุรกิจให้มีความยั่งยืนมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การติดตามมลพิษทางอากาศ การจัดการ Carbon Footprint การบริหารจัดการน้ำ การดำเนินธุรกิจสีเขียว เช่น การผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ยานยนต์ไฟฟ้า อาหารที่ทำจาก Plant-base โปรตีนจากแมลง เป็นต้น” ดร.รักษ์ กล่าว

และว่า สินค้าที่จะอยู่ในเมกะเทรนด์รองลงมา ได้แก่ สินค้าในกลุ่ม Silver Economy หรือสินค้ากลุ่มสูงวัย ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยคาดว่า ในปี 2593 ทั่วโลกจะมีผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีราว 22% ของประชากรโลก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มประเทศในยุโรปและบางประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งจะกลายเป็นอีกหนึ่งในกลุ่มผู้บริโภคหลักในอนาคต

ความน่าสนใจของสินค้าในกลุ่มนี้คือ กำลังซื้อของกลุ่มผู้สูงวัยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม โดย Bruegel สถาบันวิจัยชั้นนำของยุโรป ระบุว่า ผู้สูงวัยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 14,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทุกวัย 20% ซึ่งอยู่ที่ราว 12,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตัวอย่างสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ เช่น อาหารเคี้ยวง่าย หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เครื่องช่วยฟัง ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เป็นต้น

การออกแบบผลิตภัณฑ์จะต้องทำให้เหมาะสมกับผู้บริโภค เช่น ออกแบบตัวอักษรบนฉลากมีขนาดใหญ่เพื่อให้อ่านง่าย บรรจุภัณฑ์จะต้องออกแบบให้เปิดง่ายไม่ซับซ้อนเพื่อให้ผู้บริโภคไม่ต้องออกแรงมาก นอกจากนี้ ยังมีสินค้ากลุ่ม SHEconomy หรือสินค้าสำหรับสุภาพสตรีที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะจีนซึ่งสะท้อนจากยอดช้อปปิ้งของสาวจีนในปี 2565 มีมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทเพิ่มขึ้นมากในโลกธุรกิจ โดยในปี 2564 พบว่า มี CEO หญิงทั่วโลกมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 26% จากปี 2558 มีสัดส่วนเพียง 15% จากจำนวนผู้บริหารระดับสูงทั่วโลก สินค้าในกลุ่มนี้ที่มีการเติบโตดี คือ เครื่องสำอาง วิตามินชะลอวัย เสื้อผ้าแฟชั่น ผลิตภัณฑ์ดูแลรูปร่าง เครื่องประดับ สไตลิสต์ออนไลน์

ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK ช่วยให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ของโลกด้วยการสร้าง Ecosystem อย่างครบวงจร มี EXIM คลินิกเพื่อคนตัวเล็ก ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางออนไลน์และสัญจรออกนอกสถานที่ต่อเนื่องตลอดปี เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำทั้งด้านความรู้ โอกาส และเงินทุนที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs หรือคนตัวเล็กสามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกได้

มีทักษะด้านการส่งออกเพิ่มมากขึ้น มีช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ที่เข้าถึงผู้ซื้อทั่วโลก โดย EXIM BANK สนับสนุนให้ผู้ประกอบการทดลองวางขายสินค้าบน Global E-Commerce Platform อย่าง Amazon และ Alibaba มีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ Business Matching กิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าที่มีศักยภาพในต่างประเทศที่น่าเชื่อถือ และบริการให้คำแนะนำด้านการบริหารความเสี่ยงในการส่งออก ตลอดจนความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยน

“EXIM BANK ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับธุรกิจด้วยการเชื่อมโยงกับหน่วยงานพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรม อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้และนำไปใช้พัฒนาสินค้าและบริการ อีกทั้งการปักหมุดหมายสู่การเป็น Green Development Bank มีนโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องและครอบคลุมกับเป้าหมายของประเทศไทยในการเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และในปี 2608 ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” ดร.รักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกไทยในปี 2567 ดูจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ยังมีความท้าทายใหม่ที่ผู้ส่งออกต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ มาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่นานาประเทศต่างหยิบยกขึ้นมาใช้อย่างเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในขณะนี้มีการออกมาแล้วราว 18,000 ฉบับ ทั้งมาตรการตามความสมัครใจอย่างการติดฉลากสิ่งแวดล้อม (Ecolabel)

สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น มีกระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้พลังงานหมุนเวียน และนำของเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ซ้ำ และมาตรการบังคับ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ซึ่งเป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นต่างๆ

เนื่องจากสาร CFC มีผลทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน รวมถึงการห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งโลก เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความสนใจปรับประสิทธิภาพการผลิตไปสู่สินค้าตามเทรนด์ที่ตลาดโลกต้องการและมุ่งสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญได้ที่ EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999 และโซเชียลมีเดียทุกช่องทางของธนาคาร