เร่งยกระดับ อุตสาหกรรมโกโก้ไทย หวังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 4 พันล้าน

เร่งยกระดับ อุตสาหกรรมโกโก้ไทย หวังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 4 พันล้าน

เร่งยกระดับ อุตสาหกรรมโกโก้ไทย หวังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 4 พันล้าน

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ขานรับนโยบายรัฐบาลในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ทั่วประเทศสู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พืช “โกโก้” ถูกจับตามองว่าเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจใหม่และได้รับกระแสความนิยมเพิ่มมากขึ้น

สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมียม รวมถึง เทรนด์รักสุขภาพ เนื่องจากโกโก้ สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกโกโก้ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับโอกาสในอนาคต

โดยจากข้อมูลปี 2565 ไทยส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งจากโกโก้ ไปตลาดโลกมีมูลค่ากว่า 69.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 64.32 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมี ญี่ปุ่น อาเซียน และเกาหลีใต้เป็นตลาดหลักส่งออกที่สำคัญ

คุณพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้ายกระดับโกโก้ไทย

สำหรับประเทศไทย มีความได้เปรียบด้านพื้นที่สามารถปลูกโกโก้ได้ทุกภาค โดยที่น่าจับตามองคือ ภาคตะวันออกในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ที่มีพื้นที่การปลูกโกโก้และเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะมุ่งเน้นการตั้งโรงงานแปรรูปโกโก้ขนาดเล็กเพื่อสนับสนุนให้มีการปลูกโกโก้ให้มากขึ้น

รวมถึงภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกโกโก้มากกว่า 1,600 ไร่ เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกโกโก้ทั้งสิ้นกว่า 3,000 ครัวเรือน ถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตโกโก้คุณภาพดีของไทย การันตีด้วยรางวัลระดับโลก

อย่างแบรนด์ “ภราดัย” คว้ารางวัลพิเศษระดับทองสำหรับช็อกโกแลตบาร์ 75 เปอร์เซ็นต์จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ประเภท Bean to Bar หรือ ช็อกโกแลตที่ผู้ผลิตมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้นำร่องการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ไทยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สู่โกโก้ฮับ ภายใต้ชื่อ “นครศรีเมืองโกโก้” เพื่อเป็นศูนย์กลางรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโกโก้ในไทย อีกทั้งเป็นแหล่งความรู้และลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีศักยภาพขีดความสามารถในการส่งออกสู่ตลาดโลกได้ในอนาคต

ผลโกโก้

คุณพิมพ์ภัทรา กล่าวด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สำรวจความต้องการและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบการและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ โดยการจัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม รวมทั้งศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโกโก้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมอย่างเป็นระบบและให้มีการปลูกเป็นพื้นที่เฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะผลผลิตล้นตลาด การพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้ครบวงจร ตั้งแต่ทะเบียนสายพันธุ์ เนื้อที่ จํานวนเกษตรกร บริษัทที่รับซื้อ/โรงงาน การนําเข้าและส่งออก รวมถึงเป็นข้อมูลให้เกษตรกรและเอกชนใช้วางแผนและตัดสินใจด้านการผลิต การตลาด การลงทุน

ส่งเสริมองค์ความรู้ การใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับขนาดธุรกิจ สายพันธุ์ที่เหมาะสม และการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ่านการสร้างเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นถิ่น ช่วยสร้างจุดเด่นและมูลค่าเพิ่มของโกโก้ให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดจนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และส่งเสริมตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างแรงจูงใจให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต โดยการนำทุกส่วนของโกโก้มาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด อาทิ เมล็ดโกโก้ใช้ทำช็อกโกแลตและผงโกโก้ เปลือกใช้เป็นภาชนะใส่ขนม ไอศกรีม เชื้อเพลิงชีวภาพ และปุ๋ย อีกทั้งยังสามารถต่อยอดเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม ไขมันโกโก้ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง เปลือกหุ้มเมล็ดใช้เป็นชา และสีย้อมผ้า

คุณภาพไม่ธรรมดา

พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดโรดโชว์ในต่างประเทศ เพื่อให้โกโก้ไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมโกโก้ให้เป็นหนึ่งในพืชแห่งอนาคต และยกระดับสู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ ของอาเซียนในอนาคต คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท

อีกหนึ่งผลสำเร็จจากการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมโกโก้ ประกอบด้วย ร้านวันมอร์ไทยคราฟต์ช็อกโกแลต วิสาหกิจชุมชนโกโก้สวนลุงเล็ก วิสาหกิจชุมชนโกโก้พรีเมียมท่าศาลา วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่โกโก้ท่าศาลา วิสาหกิจชุมชนโกโก้ทุ่งสง โรสโกโก้การ์เดน ท่าหลาโกโก้ โกโก้นิ และกลุ่มผู้ประกอบการโกโก้

แบรนด์ไทย

ได้รวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็งและนำไปสู่การยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาองค์ความรู้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การบริหารจัดการในทุกๆ มิติ รวมทั้งการสร้างมาตรฐานต่างๆ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจและเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการโกโก้

ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มและเครือข่ายในการพัฒนาธุรกิจและมีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากลและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป