ชวนผู้ประกอบการช็อป “Thailand Tech Show 2016”

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ได้ดำเนินโครงการสานต่อแนวนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนด้วยโมเดล Thailand 4.0 โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างต่อเนื่อง อาทิ Bio Economy และ Digital Economy ซึ่งเป็น 2 ใน 5 อุตสาหกรรมที่รัฐบาลกำหนดไว้ใน Thailand 4.0 ที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น มุ่งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไทยมีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล ยั่งยืน และมีการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมการบริหารจัดการสมัยใหม่ อันจะนำประเทศสู่การหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางต่อไป

การจัดงาน “Thailand Tech Show 2016” ภายใต้แนวคิด “S&T for Thailand 4.0” ระหว่างวันที่ 8 -10 กันยายน ที่เพลนารี ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นงานที่ภาครัฐพยายามผลักดันผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้ออกสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม นำเสนอด้วยรูปแบบตลาดเทคโนโลยี ผู้ซื้อพบผู้ขาย สนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยี และ Tech Startup รวมทั้งเชื่อมโยงการลงทุนในรูปแบบใหม่กับแหล่งทุนที่เหมาะสม เพื่อเป็นกลไกในการเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และต่อยอดให้เกิดขึ้นในวงกว้างและรวดเร็ว รวมถึงการขยายตลาดให้แก่ธุรกิจเทคโนโลยีซึ่งเป็นการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว

ภาพข่าว กระทรวงวิทย์ แถลงข่าวจัดงานไทยแลนด์เทึโชว์ 2016 (1)

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ผลงานทั้งหมดที่จัดแสดงในงาน “Thailand Tech Show 2016” ประกอบด้วย 179 ผลงาน ผลงานเด่น สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร รวมจำนวน 10 ผลงาน เทคโนโลยีแนะนำ (ราคาเดียว) จำนวน 122 ผลงาน และเทคโนโลยีไฮไลต์ (เจรจาเงื่อนไข) จำนวน 47 ผลงาน ตลอดจนผลงานจาก Tech Startup จำนวน 50 ราย

“ขอเชิญชวนผู้ประกอบการและนักลงทุนที่สนใจร่วมงานรับฟังข้อมูล สัมผัสกับผลงานวิจัยด้วยตัวท่านเอง โดยจะมีนักวิจัยเจ้าของผลงานคอยให้ข้อมูลเพิ่มเติมตลอดการจัดงาน ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดโครงการ ข้อมูลเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะนำมาแสดง รวมถึงข้อมูลในการขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ www.nstda.or.th/thailandtechshow2016/ หรือโทรศัพท์ (02) 564-8000”

สำหรับผลงานเด่นของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ที่มีศักยภาพพร้อมสำหรับการลงทุนมีด้วยกันหลายผลงาน อาทิ

ผลงานเด่นของ สวทช.

  1. ชุดตรวจโรคไข้เลือดออกที่แยกชนิดของไวรัสเดงกีได้ทันที (DEN-STEP) (ดร.ชัญญา พุทธิขันธ์, BIOTEC)

DEN-STEP เป็นผลิตภัณฑ์ชุดตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสเดงกี ที่สามารถตรวจหาโปรตีน NS1 ของไวรัสเดงกี ในผู้ป่วยระยะที่ยังมีไข้ (Early diagnosis) พร้อมกับการแยกชนิดหรือซีโรทัยป์ของไวรัสเดงกีได้ทันที

  1. ฟิล์มปิดหน้าถาดสำหรับผลิตผลสดตัดแต่ง (Topflex) (ดร.วิชชุดา เดาด์, MTEC)

Topflex เป็นฟิล์มปิดหน้าถาดแบบปิดผนึกด้วยความร้อน ที่ถูกออกแบบให้มีอัตราการแพร่ผ่านของก๊าซที่เหมาะสม สำหรับใช้บรรจุผลิตผลสด เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุผักผลไม้สดตัดแต่ง

  1. กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง (มิวอาย M&B) (ดร.อัชฌา กอบวิทยา, NECTEC)

ใช้เลนส์พอลิเมอร์ที่มีความยืดหยุ่นสูง ไม่แตกหักง่าย ไม่ขึ้นเชื้อรา ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย กำลังขยาย Optical Zoom สูงถึง 250 เท่า และสามารถขยายได้สูงสุดถึง 1,000 เท่า เมื่อรวม Digital Zoom จากกล้องของอุปกรณ์สมาร์ตโฟนหรือแท็บเลต สามารถบันทึกรายละเอียดของเซลล์ขนาดเล็กอย่างเซลล์เนื้อเยื่อสัตว์ เซลล์เม็ดเลือดแดง หรือเซลล์ประสาทได้ในรูปแบบภาพและวิดีโอ อีกทั้งเอื้อให้การส่งถ่ายข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีเครือข่ายออนไลน์

  1. ชิปขยายสัญญาณรามาน (whatSERS) (ดร.นพดล นันทวงศ์, NECTEC)

ชิปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัดเอกลักษณ์ของสารเคมีด้วยเทคนิค Raman Spectroscopy ให้สามารถวัดสัญญาณของสารอินทรีย์และอนินทรีย์ในปริมาณน้อยระดับ Trace Concentration ได้

  1. แพลตฟอร์มสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง (NETPIE) (ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์, NECTEC)

NETPIE คือ Cloud Platform ที่ให้บริการในรูปแบบ Platform-as-a-Service สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับนักพัฒนาสามารถพัฒนาให้อุปกรณ์ของตัวเองเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูล และมีปฏิสัมพันธ์กันได้ในแบบ Internet of Things (IoT) NETPIE มีองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ Cloud Platform และไลบรารี่ ซึ่งเป็นเสมือน Firmware หรือ Software Development Kit (SDK) สำหรับติดตั้งบนอุปกรณ์ ซึ่งจะช่วยดูแลการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ต่างๆ เรื่องความปลอดภัย (Security) ความพร้อมใช้ (Availability) และการขยายตัวของระบบ (Scalability) นักพัฒนาจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการบริหารจัดการระบบและการสื่อสารที่อยู่เบื้องหลัง

– เทคโนโลยีแนะนำ (ราคาเดียว 30,000 บาท) เช่น เครื่องดิจิตอลอิมเมจคัลเลอริมิเตอร์ที่อาศัยไอพอดแบบพกพาสะดวก (มหาวิทยาลัยนเรศวร) ครีมบำรุงฝ่าเท้าจากกวาวเครือ (มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี) ผลิตภัณฑ์แยมจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ (มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) เจลแต้มสิวจากแบคทีริโอซิน (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) นวัตกรรมแหนมแห้งพร้อมบริโภค (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) เทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ใยอาหารชนิดละลายน้ำได้จากเปลือกมะม่วง (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) เครื่องปรุงรสอาหารฟรุตโตริน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

– เทคโนโลยีไฮไลต์ (เจรจาเงื่อนไข) เช่น เจลแต้มสิวที่มีส่วนผสมของพันซาด (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) อุปกรณ์วัดสภาวะน่าสบาย (Thermal Comfort) ในสำนักงานและโรงงานอุตสาหกรรม (สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น) ชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ Immunochromatographic Strip Test เพื่อตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรคในพืชตระกูลแตง 3 ชนิดในคราวเดียวกัน (สวทช.)

– ผลงานจาก Tech Startup เช่น Tactical Simulation Training หรืองานทางด้านจำลองยุทธทางด้านทหารและตำรวจ (InterSET Research And Solution Co.,Ltd.) แอพพลิเคชั่น ChomCHOB (ชมชอบ) (บริษัท ชมชอบกรุ๊ป จำกัด) MATRIX DSLRs Control Suite ระบบควบคุมและสั่งถ่ายกล้อง DSLR ไม่จำกัดจำนวน (บริษัท โปร-ทอยส์ จำกัด) นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ป้องกันการเกิดฝ้า (บริษัท ดีไลฟ์ ซินเนอร์จี้ จำกัด) เป็นต้น