5 เทรนด์ปี 2024 ที่นักการตลาดต้องรู้ เพื่อรับมือจากตลาดที่เปลี่ยนไป

5 เทรนด์ปี 2024 ที่นักการตลาดต้องรู้ เพื่อรับมือจากตลาดที่เปลี่ยนไป 

นางสาวชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัทโฆษณาฮาคูโฮโดของญี่ปุ่น ดำเนินธุรกิจครีเอทีฟเอเยนซี เปิดเผยว่า ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ในแง่ของ GDP ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นประมาณ 4.4-4.6% เมื่อเทียบกับปี 2023 ที่ฟื้นตัวอยู่ที่ 2.8% แต่ก็ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีน ภาวะเงินที่ตึงตัวในสหรัฐฯ และยุโรป หรือภาวะเงินเฟ้อ ที่เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการใช้จ่ายของคนไทย

ซึ่งอาจจะส่งผลให้นักการตลาดในปี 2024 มีความต้องการความคุ้มค่าในทุกอย่างมากขึ้น ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จึงมีแนวทางการพัฒนา การดำเนินงานในปี 2024 ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การตลาด โดยได้วิเคราะห์ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการตลาด แบ่งเป็น 5 เทรนด์คือ

เทรนด์ที่หนึ่ง 

โรคระบาดใหญ่และภาวะเงินเฟ้อเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยไปตลอดกาล (Pandemic and Inflation Reshapes Habits Forever) เมื่อผู้บริโภคมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ลดลงในบางธุรกิจ และเพิ่มขึ้นในบางธุรกิจอย่างชัดเจน ทำให้แบรนด์ต้องหากลุ่มเป้าหมายที่ใช่ให้เจอ เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมที่แบรนด์จะเข้าไปสร้างสัมพันธ์ด้วย

เทรนด์ที่สอง 

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทางการตลาด (The Rise of MARTECH) การเข้าถึงเทคโนโลยีทางการตลาดอย่างรวดเร็ว อาทิ เทคโนโลยี AI จะช่วยแบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดงบประมาณ ประหยัดเวลา จะยังทำให้แบรนด์ได้ผลลัพธ์จากกลุ่มเป้าหมายได้เร็วขึ้นอีกด้วย

โดยฮาคูโฮโด เฟิร์ส มีเทคโนโลยีทางการตลาดที่เปิดกว้าง สามารถนำมาประยุกต์ให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพต่อลูกค้า ถึงแม้จะเป็นการใช้กับอุตสาหกรรมใหม่หรือธุรกิจใหม่ก็ตาม

เทรนด์ที่สาม 

จากโลกแห่งความเป็นส่วนตัวสู่โอกาสใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้า (Privacy to Liberty) จากการที่ผู้บริโภคตระหนักถึงและได้รับความคุ้มครองในเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น จะเป็นโอกาสให้แบรนด์ที่สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับกลุ่มเป้าหมาย สามารถได้รับข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประสบการณ์ตรง และยังสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นต่อยอดในการสื่อสารและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ในวงกว้าง

เทรนด์ที่สี่ 

การสร้างแบรนด์เติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว (BRANDFORMANCE) เป้าหมายของการสื่อสารการตลาดของแบรนด์ จะไม่อยู่เพียงแค่ยอดขายสินค้าและบริการ หรือตอบโจทย์ การส่งเสริมการตลาดในระยะสั้น ยังจำเป็นต้องสื่อสารให้เห็นความสำคัญของแบรนด์ที่สะท้อนความหมาย ต่อการใช้ชีวิตของกลุ่มเป้าหมายในระยะยาว โดยการสร้างความหมายของแบรนด์ในชีวิตผู้บริโภค

เทรนด์ที่ห้า 

ลงมือทำเพื่อโลกที่เปลี่ยนแปลง (Climate Action) การสื่อสารด้านความยั่งยืนจะมีความสำคัญและมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ที่เป็นเอเยนซีที่ผลักดันเรื่องความยั่งยืนให้กับลูกค้าและภายในองค์กร

ทั้งในเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ลดการใช้พลังงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และในประเด็นอื่นๆ ที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องสอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations’ Sustainable Development Goals : SDGs)

นางสาวชุติมา กล่าวย้ำว่า เพื่อรับมือและพัฒนาการดำเนินงานของบริษัทต่อการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การตลาด บริษัทจะมุ่งการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “Driving People’s Actions” เน้นการขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ลูกค้า ด้วยการสร้างพฤติกรรม กับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ ทั้งทางด้านธุรกิจ และความยั่งยืน สร้างจุดสนใจ ร่วมกันของลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวต่อแบรนด์ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูล ประชาชาติธุรกิจ