อาชีพเสริมหน้าแล้ง..พากันเข้าป่าหา ‘ผึ้งมิ้ม’ คนหาเจ็บตัวแต่คนกินสุขใจ

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนถนนหมายเลข 2076 สาย อ.ท่าตูม อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ช่วงหลัก กม.ที่ 14 ก่อนถึงบ้านสำโรง อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ประมาณ 1 กิโลเมตร สองข้างทางริมถนนสายนี้ จะมีอาชีพหนึ่งที่มีเฉพาะหน้าแล้ง ที่คนขายต้องยอมเจ็บตัวกว่าจะได้นำมาขาย อะไรที่ว่านั้นก็คืออาชีพหา “รังผึ้งป่า” หรือว่าผึ้งมิ้ม ที่หาได้เฉพาะหน้าแล้ง โดยเพาะช่วงเดือน 3 ถึงเดือน 5 ที่รังผึ้งจะมีน้ำหวานและมีตัวอ่อนที่ชวนรับประทานเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นที่ต้องการของนักกินผึ้งที่ต้องบึ่งมาที่นี่ เฉพาะช่วงนี้เท่านั้น

นายสมพร จะยันรัมย์ อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 176 ม.4 บ้านสำโรง ต.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ทำอาชีพนี้มาหลายปีแล้ว เพราะเป็นคนในหมู่บ้านนี้ ซึ่งคนในหมู่บ้านต่างก็ออกหารังผึ้งขายเช่นกัน หลังจากว่างเว้นจากการทำนา โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ที่คนในหมู่บ้านไม่มีงานทำจึงพากันมาทำอาชีพเสริม เพราะหมู่บ้านเราติดกับหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สร.5 (หินล้ม – พนมดิน) จึงเหมาะกับอาชีพหาของป่ามาขาย ถ้าเป็นหน้าแล้งก็จะเป็นรังผึ้งป่ากับไข่มดแดง ส่วนหน้าฝนก็จะเป็นเห็ดป่าและผลไม้ป่า ซึ่งเป็นของที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่มีมากมายตามฤดูกาล แล้วแต่สภาพอากาศ

นายสมพร กล่าวอีกว่า การหารังผึ้งป่าต้องออกหากันแต่เช้า เพราะกว่าจะออกไปหาได้ก็เกือบทั้งวัน ถ้าหาได้เร็วก็จะนำออกมาวางขายได้ทันช่วยบ่ายๆ ซึ่งทันช่วงคนเลิกงานเดินทางกลับบ้านพอดี แต่ถ้าหาได้ตอนเย็นก็จะนำออกมาวางขายในตอนเช้า แต่จริงๆแล้วช่วงบ่ายจะขายดีกว่า

สำหรับการหารังผึ้งป่าบางคนก็จะนำเอากาบมะพร้าวแห้งมาเผาเอารมควันไล่แม่ผึ้ง บางคนก็จะใช้มีดตัดเอากิ่งไม้ที่มีรังผึ้งเกาะอยู่เลย จะไม่มีใครใช้สเปรย์สารเคมีฉีดเพื่อไล่ผึ้ง เพราะกลัวจะเสียลูกค้าหากเขารู้ภายหลัง ต่อไปเขาก็จะไม่มาซื้อของเรา ชาวบ้านที่นี่เราคุยกันแล้วว่าจะไม่ทำอย่างนั้น เพื่อของป่าของเราจะได้เป็นของจากธรรมชาติจริงๆไม่มีสารเคมีเจือปน ส่วนคนที่เริ่มออกหารังผึ้งป่าแรกๆก็มักจะโดนผึ้งต่อยหนักบ้างเบาบ้างก็แล้วแต่สถานการณ์ กว่าจะได้รังผึ้งป่ามาหนึ่งรัง ก็เจ็บตัวไปตามๆกัน ส่วนคนที่ออกหามานานแล้วก็มักจะโดนจนชิน จนไม่มีความรู้สึกอะไรมากนอกจากแสบๆคันๆเท่านั้น

“ช่วงที่ขายดีที่สุดคือช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลและรังผึ้งในป่ามีมากและรังใหญ่ ซึ่งราคาขายก็มีตั้งแต่ 50 บาท จนถึง 500 บาท แล้วแต่ขนาดรัง โดยจะดูที่ขนาดของน้ำผึ้งเป็นหลัก หากรังที่น้ำหวานมีขนาดอ้วนใหญ่มากก็จะแพง และรังที่มีตัวอ่อนมากก็จะขายได้ราคาดีเช่นกัน ซึ่งช่วงที่ขายดีก็จะมีรายได้ถึงเดือนละเกือบ 2 หมื่นบาท ทำให้พอลืมตาอ้าปากได้บ้างในช่วงหน้าแล้งที่ไม่มีงานทำ เพื่อรอฤดูทำนา” นายสมพร กล่าว