เปิดแหล่งท่องเที่ยว โบราณสถานในยามราตรี ชูยุทธศาสตร์ ซอฟต์พาวเวอร์

เปิดแหล่งท่องเที่ยว โบราณสถานในยามราตรี ชูยุทธศาสตร์ ซอฟต์พาวเวอร์

เมื่อเร็วๆ นี้ นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานแถลงข่าวกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งโบราณสถานและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยามค่ำคืน ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และกล่าวตอนหนึ่งว่า ตามที่รัฐบาลได้จัดโครงการ Thailand Winter Festival ประกาศความพร้อมและแสดงศักยภาพการเป็นฮับแห่งเฟสติวัลโลก ตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งมรดกวัฒนธรรม ประกอบด้วย กิจกรรมเปิดแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานในยามราตรี เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้สัมผัสความสวยงามของโบราณสถานในยามค่ำคืน ให้ได้เห็นภาพของโบราณสถานยามที่กระทบแสงไฟสาดส่อง ซึ่งเป็นภาพสวยงามที่สร้างความประทับใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร

โดยแหล่งโบราณสถานที่จะเปิดให้เข้าชมยามราตรี ได้แก่

วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมวัดไชยวัฒนาราม ผ่าน แสง สี จากการประดับไฟโบราณสถาน ภายใต้ชื่องาน “ราตรีนี้…ที่วัดไชยวัฒนาราม” ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ ในเวลา 18.00-22.00 น. ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566

ภายในงานยังมีการแสดงนาฏศิลป์และดนตรี การเสวนา การสาธิตหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยเปิดพื้นที่ให้หน่วยงาน องค์กร ภาคส่วนต่างๆ ร่วมแสดงกิจกรรมทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการประกวดภาพถ่าย “แต่งไทย ชมวัดไชยฯ ยามราตรี” เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการแต่งชุดไทยเที่ยวชมโบราณสถานอีกด้วย

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เปิดให้เข้าชมโบราณสถานเขตใน กำแพงเมือง (วัดพระแก้ว-วัดพระธาตุ) ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 เปิดให้บริการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 18.30-20.00 น. โดยมีวิทยากรบรรยายนำชมโบราณสถานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมปราสาทพิมายยามค่ำคืน (Phimai Night : Light Up) ทุกวันศุกร์ วันเสาร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เริ่มวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึง 27 มกราคม 2567 ระหว่างเวลา 18.00-20.00 น. โดยเปิดให้เข้าชมถึงพื้นที่ชั้นในสุดของโบราณสถานในยามค่ำคืนเป็นครั้งแรก (ปราสาทพิมาย เมรุพรหมทัต ประตูชัยเมืองพิมาย)

นอกจากนี้ ยังเปิดให้สักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาสนสถาน “พระกมรเตงชคตวิมาย” พระพุทธรูปนาคปรก และประติมากรรมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราช รวมถึงการเปิดพื้นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม

บรรยากาศงานแถลงข่าว

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมความสวยงามของโบราณสถานภายในอุทยานประวัติศาสตร์ยามค่ำ ตั้งแต่เวลา 18.30-21.00 น. ระหว่างเดือนธันวาคม 2566 – มกราคม 2567 ในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

โบราณสถานเวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรมพิเศษ “แอ่วกุมกามยามแลง” ในวันที่ 1-2 ธันวาคม 2566 เวลา 16.00-21.00 น. ณ ลานกิจกรรมวัดอีก้าง-วัดหนานช้าง เยี่ยมชมโบราณสถานสำคัญของเวียงกุมกาม อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาสมัยพญาเม็งรายที่มีอายุเก่าแก่กว่า 700 ปี ชมกาดกุมกาม @ Night เลือกซื้ออาหารและสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน

และชมบูธกิจกรรมต่างๆ พร้อมทั้งรับชมการแสดงจากสำนักการสังคีต ภายใต้แนวคิด “กิจกรรมโขนในเวียง” ด้วยการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด ทูษณ์-ขร-ตรีเศียร-ยกรบ โดยมีการออกแบบ แสง สี เสียงประกอบการแสดงด้วยเทคนิคพิเศษเพื่อให้เข้ากับฉากหลังที่เป็นโบราณสถานเวียงกุมกาม

สำหรับ กิจกรรมเปิดพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืน : Night at the Museums เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในบรรยากาศที่แตกต่าง ตลอดจนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมไทย โดยมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ร่วมสัมผัสความงดงามของโบราณสถานวังหน้า ที่ประทับ ของพระมหาอุปราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในยามค่ำ พร้อมทั้งชมห้องจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่เวลา 16.00-20.00 น. ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ (ยกเว้นวันจันทร์-วันอังคาร) ระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม 2566

โขน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจัดแสดงเครื่องทองสมัยอยุธยาที่สวยงามและมีจำนวนมากที่สุดของประเทศไทย ขยายเวลาการเปิดพิพิธภัณฑ์จนถึงเวลา 18.30 น. ในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อให้มีความต่อเนื่องสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการชมโบราณสถานในยามค่ำคืนที่วัดไชยวัฒนาราม

นอกจากนี้ กรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมพิเศษให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของกรมศิลปากร (Thailand Winter Festival) ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 สะสมบัตรเข้าชมที่มีตราประทับกิจกรรมไม่น้อยกว่า 5 สถานที่ (เจ้าหน้าที่จะประทับตราในบัตรเข้าชม ณ จุดจำหน่ายบัตร) นำมารับของที่ระลึก

ได้แก่ เหรียญพระพุทธสิหิงค์ รุ่นครบรอบ 112 ปีกรมศิลปากร, สมุดภาพ (ไดอารี่) และภาพชุด (ปฏิทิน) มรดกเรืองรอง เครื่องทองอยุธยา จำนวนจำกัดเพียง 100 ชุด ได้ที่อาคารกรมศิลปากร (เทเวศร์) ชั้น 3 กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 เป็นต้นไป (วันและเวลาราชการ) จนกว่าของที่ระลึกจะหมด

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก เพจ กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร