สตาร์ตอัพไทย ไม่ง่ายจะสำเร็จทุกราย ปัญหาท้าทาย คือ เงินและการลงทุน

สตาร์ตอัพไทย ไม่ง่ายจะสำเร็จทุกราย ปัญหาท้าทาย คือ เงินและการลงทุน

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า วิสาหกิจเริ่มต้น หรือ สตาร์ตอัพ (Startup) ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นและการเติบโตของสตาร์ตอัพไทย ยังอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้น และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดความสำเร็จในทุกราย

เนื่องด้วยยังขาดอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะปัจจัย ที่สำคัญเรื่อง “เงินทุนและการลงทุน” จากกลุ่มธุรกิจต่างๆ เนื่องด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ รวมถึงความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายของธุรกิจสตาร์ตอัพที่ต้องแก้ไขและผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนที่สุด

โดยที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ได้เดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มสตาร์ตอัพให้เติบโตด้วยกระบวนการทางธุรกิจที่เข้มข้นภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมโต โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน” ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ โตได้ (Start) ที่เน้นการส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ดึงจุดเด่นด้านศักยภาพการใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่ามาต่อยอดพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้นและเติบโตไปได้ ผ่านโครงการ DIPROM Startup Connect มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ภายใต้แนวคิด “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” โดยดีพร้อมได้เชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ให้เข้าสู่วงการธุรกิจสตาร์ตอัพ นับเป็นโอกาสที่ดี ของสตาร์ตอัพไทย ที่จะสามารถนำไอเดียมาต่อยอดสู่การประกอบธุรกิจและเชื่อมโยงไปยังแหล่งเงินทุน

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรเร่งผลักดัน “BCG Tech Startup” หรือสตาร์ตอัพในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการผ่านการวิจัยและทดลองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสามารถแก้ปัญหาในเชิงลึกและตรงจุดมากกว่าการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่ทั่วไป

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ซึ่งได้แบ่งกลุ่มเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาและผลักดันสู่กลุ่ม BCG Economy จำนวน 7 สาขา ได้แก่ 1. การเกษตร 2. อาหาร 3. วัสดุชีวภาพ 4. เทคโนโลยีชีวภาพ 5. การแพทย์ 6. นวัตกรรมการลดใช้พลังงานและสร้างพลังงานทดแทน และ 7. เทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อความยั่งยืน

นายใบน้อย กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ Startup Connect ปี 4 นี้ ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ

กิจกรรมการสร้างนวัตกรรมร่วม (Co-creation) โดยเปิดช่องทางให้สตาร์ตอัพได้มีโอกาสทำงานร่วมกับพันธมิตรเอกชนรายใหญ่ในการทดลองใช้นวัตกรรม หรือโซลูชันในตลาดจริง (Proof of Concept : POC) ถือเป็นมิติใหม่ของการสนับสนุนสตาร์ตอัพที่ให้พันธมิตรเอกชน หรือลูกค้ารายใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมสร้างและพัฒนาสินค้าหรือบริการของสตาร์ตอัพให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์มากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการขยายตลาดและสร้างหุ้นส่วนทางธุรกิจ (Partnership) ร่วมกันต่อไป

กิจกรรมการเชื่อมโยงธุรกิจเพื่อส่งเสริมการตลาด ด้วยการจัดกิจกรรมจับคู่/เจรจาธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้มีเทคโนโลยีและผู้ต้องการใช้เทคโนโลยี

และ กิจกรรมการเข้าถึงแหล่งทุน โดยดีพร้อม กำลังดำเนินการจัดกิจกรรมให้สตาร์ตอัพที่เข้าร่วมโครงการฯ นำเสนอโมเดลธุรกิจต่อแหล่งสนับสนุนเงินทุน อาทิ นักลงทุนบุคคล (Angel investor) กิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital : VC) บริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Corporate Venture Capital : CVC) เพื่อให้สตาร์ตอัพในกลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน BCG Economy ที่อยู่ในระยะเติบโตมีโอกาสขยายตลาดและได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน (VC) และบริษัทร่วมลงทุน (CVC) เพิ่มขึ้น

โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมการนำเสนอโมเดลธุรกิจนวัตกรรมหรืออินโนเวชันต่อแหล่งทุน จำนวน 7 บริษัท ได้แก่

บริษัท ไทย ทิชชูคัลเจอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเพาะเนื้อเยื้อต้นพันธุ์พืชเศรษฐกิจ

บริษัท เวคิน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการจัดการพลังงานด้วยแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ DEMP ที่เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ แบบเรียลไทม์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม

บริษัท เคมีวิเคราะห์ จำกัด ผู้พัฒนาเทคโนโลยีตรวจวัดค่าสารโลหะหนักเจือปนในน้ำโดยใช้ปริมาณตัวอย่างเพียงเล็กน้อยด้วยเซ็นเซอร์ที่มีความแม่นยำ

บริษัท สุขุมนุ่มลึก จำกัด ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการใช้นวัตกรรมด้าน Probiotics ผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นถิ่นไทยด้านการหมัก ให้เป็น “Probiotics ชนิดน้ำ” และพัฒนาเป็นสินค้า ผลิตภัณฑ์ ที่ช่วยเสริมสร้างสมดุลภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างสุขภาพจิตใจที่ดีในกลุ่มอาหาร เครื่องสำอางสำหรับคนและสัตว์

บริษัท แนบโซลูท จำกัด ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Hy-N Technology หรือนวัตกรรมระบบนำส่งสารสำคัญ สำหรับเครื่องสำอาง อาหารเสริม ยา และวัคซีนที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงของผลิตภัณฑ์สุขภาพ

บริษัท เจ็นโฟสิส จำกัด ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการตรวจ DNA ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยหลักชีวสารสนเทศที่สามารถรายงานผลที่หลากหลายและสามารถออกแบบดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคลได้

และ บริษัท วัน เท็น พลัส จำกัด ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านแพลตฟอร์มตรวจวิเคราะห์ชีพจรเครื่องจักร เพื่อติดตามและเฝ้าระวังการใช้พลังงาน และนำไปสู่การลดก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้

ซึ่งจากการนำเสนอโมเดลธุรกิจนวัตกรรมร่วมหรืออินโนเวชัน จากทั้ง 7 บริษัทในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่สตาร์ตอัพไทยจะได้มีโอกาสพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับแผนพัฒนาประเทศ และได้เรียนรู้แนวคิดที่มีความเป็นสากลร่วมกับธุรกิจชั้นนำ ทั้งยังเชื่อมั่นว่าในอนาคตการเกิดขึ้นและการเติบโตของสตาร์ตอัพจากโครงการนี้จะเป็นผลดีในเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

โดยคาดว่า จะสามารถสร้างมูลค่าการลงทุนได้ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท  และตลอดการดำเนินโครงการ Startup Connect ปี 4 นี้ จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางการค้าและแหล่งเงินทุน และสามารถที่จะกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 200 ล้านบาท