แก้จน ปัตตานี นิเวศสร้างสรรค์โมเดล สร้างผู้ประกอบการ พึ่งพาตนเองได้

แก้จน ปัตตานี นิเวศสร้างสรรค์โมเดล สร้างผู้ประกอบการ พึ่งพาตนเองได้

ปัตตานี เป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ สวนทางกับความจริงในอดีต ที่ปัตตานี เคยเป็นเมืองท่าโบราณ ร่ำรวยทั้งวัฒนธรรมและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เชื่อมร้อยสังคมแบบพหุวัฒนธรรม สะท้อนออกมาในรูปของ อาหารของกลุ่มวัฒนธรรมมลายู จีน ไทย งานสถาปัตยกรรมทั้งเรือนพัก อาคารพาณิชย์ วังเก่า สิ่งทอ และเครื่องแต่งกาย

รวมถึงดนตรี ศิลปะการแสดง ภายในเมืองปัตตานี เชื่อม 4 ชุมชน ไว้ด้วยกัน ได้แก่ ย่านชุมชนจีนหัวตลาด (กือดาจีนอ) ย่านชุมชนชิโนโปรตุกีส (กลุ่มอาคาร สไตล์ตะวันตก ถนนฤาดี) ย่านชุมชนมลายู (จะบังติกอ) และย่านชุมชนมุสลิม (บริเวณมัสยิดกลางปัตตานี) แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมที่เป็นเสน่ห์ของปัตตานี

ทะเลปัตตานี

ด้วยเห็นในศักยภาพของแต่ละชุมชน ที่สามารถต่อยอดสู่ความเจริญแบบหยั่งรากเพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้กับ ชาว จ.ปัตตานี สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขาปัตตานี จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาระบบนิเวศสร้างสรรค์ เพื่อการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยสู่โมเดลพึ่งตนเอง แก้จนจังหวัดปัตตานี หรือ ECOtive นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานีโมเดล เพื่อพัฒนาและทดลองเชิงนโยบายเพื่อออกแบบกลไกการพัฒนาพื้นที่และเศรษฐกิจฐานราก

ดร.สิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจนวัตกรรม สอวช. กล่าวว่า สอวช. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำ อววน. ไปเป็นเครื่องมือในการช่วยเพิ่มรายได้ประชากรกลุ่มฐานราก โดยเฉพาะคนยากจนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดของทุนด้านต่างๆ

อววน. จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถนำทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดมาบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการเลือกพื้นที่ จ.ปัตตานี เนื่องจากที่นี่ติดอันดับความยากจนมาตลอด และยังเป็นที่ ซึ่งคนที่อื่นไม่ค่อยกล้าเข้ามา หวังว่ากิจกรรมนี้จะช่วยเปลี่ยนมุมมองในหลายๆ อย่าง ทั้งคนในเอง และคนนอกด้วย สำคัญที่สุดคือ เปลี่ยนมุมมองคนที่คิดนโยบายจากส่วนกลาง

ชุมชน

เพราะเมื่อเราเข้ามาทำความเข้าใจพื้นที่จริงๆ ไม่คิดว่าการพัฒนาพื้นที่จะเป็นเรื่องยากจนเกินไป แต่เป็นการพัฒนาที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะคนในชุมชนที่จะมีความสุขกับนโยบายที่ลงมาด้วย

“อยากจะจุดประกายให้คนในชุมชนสามารถสร้างสรรค์และคิดสิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองสร้างเป็นมูลค่า เป็นกิจกรรม เป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เรียกว่าเป็นนวัตกรรม ถือว่าค่อนข้างบรรลุประสงค์ของโครงการมากๆ และจากที่ได้ลงมาเห็น มาสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติ วัฒนธรรมชุมชน อยากให้ชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ให้มาก” ดร.สิรินยา กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ที่ปรึกษา สอวช. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้ความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ ทั้งผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ช่วยมาประกอบกัน นำสิ่งละอันพันละน้อย ให้เป็นงานที่น่าสนใจและเป็นที่น่าผ่อนคลาย พักผ่อน และเป็นตลาดธุรกิจเล็กๆ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานจากหลายภาคส่วน ได้ให้ความเห็น ให้คำแนะนำ ตั้งคำถาม

สิ่งเหล่านี้ นับเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ชุมชนได้รู้ว่าเขาจะต้องไปปรับปรุงอะไร เพิ่มเติมอะไร ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า มาถูกทาง สร้างความมั่นใจให้เขา และทำให้การนำเสนอของเขามีชีวิตชีวา หลายผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนพัฒนาขึ้นมามีคนอยากซื้อ โดยทางโครงการ ECOtive มาช่วยเติมเต็มด้วยกระบวนการวิจัย ทำให้มองเห็นชุมชนและมองเห็นเครื่องมือบางอย่างที่จะช่วยให้เกิดชีวิตชีวาในชุมชน

ถามว่า ECOtive แตกต่างจากโครงการอื่นอย่างไร ต้องบอกว่าจุดเด่นของโครงการเราคือการใช้ต้นทุนจากสภาวะแวดล้อมของชุมชนต่อยอดด้วยนวัตกรรมขึ้นไปเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ ร่วมกับการพัฒนาเครือข่ายที่ช่วยสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น

สร้างผลิตภัณฑ์

ส่วน ดร.ศริยา บิลแสละ หัวหน้าโครงการฯ ECOtive กล่าวว่า กิจกรรม ECOtive เป็นการรวมตัวของนักวิจัย ในการที่จะเข้าไปพัฒนาชุมชน ให้มีการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือชุมชน โดยการมองทรัพยากรในชุมชนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น ทุนทางสังคม ที่ประกอบด้วย ทุนมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรในพื้นที่  ปราชญ์ชาวบ้าน การศึกษาต่างๆ ที่อยู่ในชุมชน

เราเข้าไปพูดคุยกับชุมชน และช่วยกันคิดวิเคราะห์ว่า คนในชุมชนมีศักยภาพอะไรบ้าง ที่เราจะสามารถพัฒนาและดึงศักยภาพของเขาออกมา ในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนในชุมชน ให้พวกเขามีความคิดในเรื่องของการเป็นผู้ประกอบการ เราจะยกระดับปากท้อง สร้างเศรษฐกิจในชุมชนให้ดีขึ้น ทำให้คนในชุมชนลดปัญหาความยากจนลง ทุกคนมีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

ECOtive ทำหน้าที่มองหาและพยายามที่จะสร้างสรรค์ไอเดีย หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ชุมชน สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือการบริการต่างๆ ตอบโจทย์ความต้องการคนในชุมชนเอง หรือแม้แต่คนภายนอกได้  เวลาเข้าไปในพื้นที่ จะเห็นศักยภาพของผู้นำ ศักยภาพของคนในชุมชนเอง ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน ที่มีการรวมตัวกัน นำเสนอไอเดีย

เช่น อยากจะทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม อันนี้เป็นลักษณะของคนในชุมชนที่เราเข้าไปจุดประกาย พยายามปรับกระบวนการความคิดเขาเพื่อให้คมขึ้นเพื่อเป็นผู้ประกอบการที่สามารถให้บริการ หรือผลิตบางสิ่งบางอย่างออกมาแล้วขายออกสู่ตลาด มีรายได้เข้ามาในชุมชนได้จริง นั่นคือเป้าหมายของเรา

อีกหนึ่่งอาชีพ

ดร.ศริยา กล่าวด้วยว่า ในช่วงแรกของการสร้าง นิเวศสร้างสรรค์ปัตตานี เพื่อยกระดับปากท้องของชุมชน มองว่าเรากำลังถางทาง ขุดค้นแสวงหา กลุ่มคน กลุ่มเยาวชน กลุ่มแกนนำ ที่จะมาเป็นตัวขับเคลื่อนคนในชุมชน เพื่อให้พวกเขาสามารถพัฒนาบางสิ่งบางอย่างไปด้วยกันได้ เราเข้าไปเปลี่ยนวิธีคิดที่เป็นแนว Passive คือ แนวแบบนิ่งๆ รับอย่างเดียว ให้กลายเป็น Active คือ กระตือรือร้นที่จะทำ

สามารถกระตุ้นคนในชุมชนให้ Active ตาม และคิดว่าเราผลิตอะไรแล้วขายได้ สามารถเอาเงินหมุนกลับเข้ามาสู่ชุมชน ทำให้คนในชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังนั้น พลังของชุมชน คือ ทุกคนต้องแอ๊กทีฟ เมื่อกระบวนการคิดที่ทำให้เขาได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว นำไปสู่การต่อยอดจากความคิดให้เห็นรูปเห็นร่างของผลิตภัณฑ์และบริการ ที่เมื่อสำเร็จแล้วสามารถออกสู่ตลาดได้

แต่ทั้งนี้ต้องมองว่า สิ่งที่ผลิตจะทำให้เกิดผลกระทบภาพใหญ่ และสามารถขยายโอกาสไปสู่ชุมชนรอบนอก ชุมชน ที่มีกลุ่มคนที่สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น และสินค้าที่ให้บริการ ตอบโจทย์ตลาดได้