เช็กเครดิตบูโรที่ไปรษณีย์ รู้สถานะหนี้

เพราะต้องการเห็นคนไทยมีวินัยทางการเงินมากขึ้น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร จึงจับมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดให้บริการตรวจข้อมูลเครดิตระบบออนไลน์ แบบเรียลไทม์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่มีกว่า 121 สาขาทั่วประเทศ (กรุงเทพฯและปริมณฑล 48 แห่ง ต่างจังหวัด 73 แห่ง) เพียงผู้ใช้บริการนำบัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card เสียบเข้าเครื่องอ่านข้อมูล และใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ก็จะทราบผลการตรวจสอบข้อมูลเครดิตแบบสรุปได้ทันที โดยไม่มีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ

“สุรพล โอภาสเสถียร”
ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร บอกว่า ความร่วมมือกันครั้งนี้จะเป็นการให้บริการที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของเครดิตบูโรที่มุ่งมั่นให้คนไทยมีวินัยทางการเงินมีคุณภาพชีวิตที่ดีรู้จักการวางแผนการเงินมีวินัยในการรักษาเครดิตของตนเองตามสโลแกนที่ว่า “ออมก่อนรู้ คิดก่อนใช้ มีวินัย เมื่อมีหนี้” โดยบริการการให้ข้อมูลสินเชื่อในเครดิตบูโรแบบสรุปแก่ประชาชนที่ร่วมกับไปรษณีย์ เป็นโครงการต่อเนื่องหลังจากที่ได้ร่วมมือกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. ให้บริการข้อมูลบัญชีสินเชื่อเครดิตบูโรแบบสรุปแก่ประชาชน ผ่านตู้คีออสก์ (Kiosk)

ขณะที่ “สมร เทิดธรรมพิบูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า บริการนี้เกิดขึ้นเพื่อรองรับนโยบาย Government Agency เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างง่ายดายและสะดวกยิ่งขึ้นด้วยเครือข่ายของที่ทำการไปรษณีย์ที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค

ส่วนผู้ที่ต้องการทราบรายงานเครดิตบูโรฉบับเต็มสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ที่ให้บริการทั้ง121แห่งดังกล่าวซึ่งในการขอรับรายงานเครดิตบูโรฉบับเต็มนี้มีค่าบริการ 150 บาท โดยจะได้รับรายงานดังกล่าวกลับภายใน 7 วัน ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน อย่างไรก็ตาม บริการนี้ให้เฉพาะรายการลูกค้าบุคคลธรรมดา ยื่นขอตรวจของตนเองเท่านั้น

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ไปรษณีย์ไทย THPContact Center โทร.1545 เว็บไซต์ www.thailandpost.co.th หรือเครดิตบูโร Call Center 0-2643-1250 อีเมล์ [email protected]

บริการนี้สะดวก รวดเร็ว กระชับ และทำให้รู้สถานะหนี้ของตนเอง เพื่อวางแผนชีวิตให้เหมาะสมและไม่เป็นทุกข์ในวันข้างหน้า หากใช้แล้วมีประโยชน์ อย่าลืมบอกต่อ หรือใช้แล้วไม่สะดวกต้องรีบแจ้งหน่วยงานรับผิดชอบเร่งปรับปรุงบริการด้วย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์