คนรุ่นใหม่ “มู” หนักมาก เซียน บอกคาถา ท่องก่อนเข้าวงการพระเครื่อง

คนรุ่นใหม่ “มู” หนักมาก เซียน บอกคาถา ท่องก่อนเข้าวงการพระเครื่อง

คร่ำหวอดอยู่ในวงการ “พระเครื่อง” มานานกว่า 30 ปี เคยนั่งเก้าอี้ บก.นิตยสารพระเครื่อง “กรุงสยาม” ตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ จนได้ฉายา “อุ๊ กรุงสยาม” ที่ผู้คนในแวดวงพระเครื่องและพระบูชา ไม่มีใครไม่รู้จัก กระทั่งกว่า 20 ปีก่อน เขามองเห็นการณ์ไกล หันมาก่อตั้งเว็บไซต์ www.uamulet.com ทำหน้าที่เป็นเหมือน “ดัชนีตลาดหุ้น” ของวงการพระเครื่อง ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ

“เว็บไซต์ที่ผมก่อตั้งขึ้นเป็นอันดับ 1 ในกูเกิล ติดต่อกันมาแล้ว 20 ปี เสิร์ชคำว่า พระเครื่อง ในกูเกิล ขึ้นเว็บผมเป็นอันดับแรกตลอดนะ” อุ๊ กรุงสยาม หรือ คุณวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ปัจจุบันเป็น นายกอบต.บ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา เริ่มต้นให้ข้อมูลกับ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ด้วยอัธยาศัยยิ้มแย้ม เป็นกันเอง

อุ๊ กรุงสยาม

ก่อนคุยให้ฟังต่อ การซื้อขายพระเครื่องมีมานานนับร้อยปีแล้ว เพราะพระเครื่องก็คือ ของสะสม ชนิดหนึ่ง เป็น สังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เมื่อมีคนต้องการ มีคนสะสม ก็มีคนซื้อ คนขาย ดีมานด์ กับ ซัพพลาย มาเจอกัน สิ่งที่ตามมาก็คือเรื่องของราคา แต่ที่ผ่านมา ก็มีคนบัญญัติศัพท์คำว่า พุทธพาณิชย์ ขึ้นมา มีการตีความไปในลักษณะด้อยค่า การซื้อขายพระ ทั้งๆ ที่เป็นการซื้อขายตามกลไกตลาดปกติ

“พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พาณิชย์ คือ การค้าขาย ถ้าเอา 2 คำ มารวมกัน แล้วตีความแบบง่ายๆ แปลว่า การค้าขายแบบผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ค้าขายแบบมีสติ อันนี้ดีนะ ถ้าทุกธุรกิจเอาพุทธพาณิชย์ ไปจับ แล้วทำตาม ผู้รู้ ผู้ตื่น และ ผู้เบิกบาน ด้วยปัญญา การค้าขายจะเป็นธรรม นะ แต่บางคนปฏิเสธการซื้อขายพระเครื่อง ว่าไม่ถูก ว่าขายพระกิน เอ้า! จะให้ขายยาบ้าหรือไงเล่า” คุณวัชรพงศ์ บอกอย่างนั้น พร้อมหัวเราะร่วน

ส่อง

ก่อนคุยให้ฟังต่อว่า แม้จะเป็น พระเครื่ององค์เล็กๆ แต่มีความเกี่ยวพันกับห่วงโซ่ธุรกิจมากมาย ทุนการศึกษา โรงพยาบาลหลายแห่ง อุปกรณ์ทางการแพทย์หลายอย่าง ได้มาจากการสร้าง “พระใหม่” ทั้งนั้น ถามว่า งบรัฐบาล มีพอไหม ไม่มี เศรษฐีคนไหน มาสร้างให้ไหม ไม่มี เงินพวกนั้นล้วนมาจากพระเล็กๆ องค์ละ 50 บาท 100 บาท ฉะนั้น “คุณค่า” ของพระเครื่อง ที่มีอยู่ จึงขึ้นอยู่ที่ว่า คนจะมองมุมไหน บวกหรือลบ

“พระเครื่อง คือ Soft Power ด้านพลังแห่งความศรัทธา ตอนนี้สามารถส่งต่อไปยังต่างชาติได้แล้ว โดยเฉพาะคนจีน นิยมชมชอบพระเครื่องบ้านเรามาก อาจเป็นเพราะไม่เคยเห็นพิธีปลุกเสกพระ พิธีกรรม การจุดเทียนชัย การนั่งปรก การสวดพุทธาภิเษก กระบวนการที่ทำให้เกิดพลังเหล่านี้ เขาทึ่ง เพราะไม่เคยเห็นความขลังลักษณะนี้” อุ๊ กรุงสยาม ให้ข้อมูลอย่างนั้น

ก่อนบอกด้วยว่า พระเครื่องของไทยที่คนจีนนิยม มีหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น หลวงพ่อรวย วัดตะโก ครูบากฤษณะ 4 หู 5 ตา ของครูบาบุญยัง หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ หรือแม้แต่ จตุคามรามเทพ ก็นิยม โดยช่องทางที่ทำให้พวกเขารู้จักก็หนีไม่พ้นสื่อโซเชียลนั่นเอง

Soft Power

เมื่อถามถึง ความเป็นไปในวงการพระเครื่องของไทยยามนี้ เจ้าของฉายา “บิล เกตส์ แห่งวงการพระเครื่อง” บอกว่า เติบโตขึ้นและมีพัฒนาการไปไกลกว่าที่คาดคิดเยอะ เหตุเพราะมี “คนรุ่นใหม่” เข้ามาให้ความสนใจกันมาก ขึ้น

“คำว่า สายมู แพร่หลายมาก คำว่า มูเตลู เป็นศัพท์ที่เกิดจากคนรุ่นใหม่ ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่มีความเชื่อหนักกว่าคนรุ่นเก่าด้วยซ้ำ พวกเขา ศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศรัทธาสิ่งที่มองไม่เห็น ศรัทธาปาฏิหาริย์ มากกว่าคนรุ่นเก่า จนคนรุ่นอย่างเราคิดไม่ถึง พอศรัทธา ก็กล้าซื้อ กล้าขาย และพวกเขามองเป็นธุรกิจด้วย” อุ๊ กรุงสยาม บอกอย่างนั้น

และว่า ที่ผ่ามา ถ้าคนรุ่นใหม่ อยากเข้าสู่ “วงการพระเครื่อง” ส่วนใหญ่จะไปหาเซียน หาผู้ชำนาญการในวงการ ซึ่งวันนี้ในโลกโซเชียล มีเซียนดังๆ ในเฟซบุ๊ก ในติ๊กต็อก เยอะแยะ ซึ่งก็นับว่าเป็นองค์ความรู้ที่ดี อย่างไรก็ตาม อยากให้จำคำของตนไว้ด้วยว่า ไม่ว่าจะทำอะไร โดยเฉพาะเรื่องพระเครื่อง ขอให้ศึกษาก่อนที่จะ สะสม และก่อนที่จะ ซื้อขาย

ศึกษา สะสม ซื้อขาย

“การเล่นพระ มีหลายรูปแบบ เล่นเพราะศรัทธา เล่นเพราะสะสม เล่นเพราะซื้อขาย แต่ไม่ว่าคุณจะเล่นแนวไหน ต้องศึกษาก่อนที่จะสะสม และก่อนที่จะซื้อขาย ต้องตระหนักว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง อย่าอวดเก่ง ไม่ประมาท และความรู้ที่แม่นยำ คือสิ่งสำคัญ” อุ๊ กรุงสยาม บอกจริงจัง

และฝากเทคนิคทิ้งท้ายไว้ให้ว่า

“การส่องดูพระเครื่อง องค์ไหนเก๊ องค์ไหนแท้ มีเกณฑ์ในการพิจารณา นับเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง เหมือนจำคน นาย ก กับ นาย ข ย่อมเป็นคนละคนกัน ฝาแฝด เขาค้อ กับ เขาทราย ก็มีความแตกต่างกัน เราต้องหาจุดต่างให้เจอ เท่านั้นเอง”