เผยแพร่ |
---|
วัวแดง ใกล้สูญพันธุ์ ชี้ทางออก เพาะเลี้ยงใหม่ บริหารจัดการคุณภาพ
“วัวแดง” เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ในฐานะ “สัตว์ป่าคุ้มครองที่ใกล้สูญพันธุ์” ซึ่งพบมากที่สุดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และตาก ราว 500 ตัวในปัจจุบัน
ครั้งหนึ่ง “สลักพระ” เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เคยอุดมไปด้วยสัตว์ป่าที่สวยงามอย่างเช่น “วัวแดง” ใน “ห้วยขาแข้ง” ก่อนต้องมาประสบภาวะ “สูญพันธุ์” จากพื้นที่ จากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการลักลอบล่าสัตว์ป่า
จึงได้นำไปสู่การริเริ่มเพาะพันธุ์วัวแดงเพื่อนำกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างอุดมสมบูรณ์อีกครั้งด้วยองค์ความรู้จากอาจารย์นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ร่วมกับประชากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ อาจารย์นักวิจัยประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึงลักษณะของ “วัวแดง” ว่า มีความโดดเด่นสวยงามจากสีขนน้ำตาลแดงในขณะยังไม่โตเต็มวัย ก่อนเปลี่ยนเป็นสีดำคล้าย “กระทิง” เมื่อตัวผู้โตเต็มวัย แต่แตกต่างจาก “กระทิง” ตรงที่ “กระทิง” ไม่มีวงก้นขาวอย่าง “วัวแดง” และดูดุดันกว่าเมื่อยามตื่นตระหนก
นอกจากวงก้นขาวแล้ว “วัวแดง” ยังมีวงรอบปากขาว วงตาขาว และขนสีดำบริเวณหลัง ตลอดจนขาทั้ง 4 ข้างคล้ายใส่ถุงเท้าขาว ซึ่งทำให้ดูแตกต่างจากวัวทั่วไปอีกด้วย
สำหรับ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ นั้น เป็นกำลังสำคัญในการเพาะเลี้ยง “วัวแดง” ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และการใช้ “กล้องถ่ายภาพสัตว์” ติดตามการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติหลังจากที่ปล่อยไป ปัจจุบันได้ทำให้ “วัวแดง” ที่ปล่อยไป 19 ตัว มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 28 ตัว
เกี่ยวกับเทคนิคการเพาะเลี้ยง “วัวแดง” อยู่ที่การคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ในวัยเจริญพันธุ์ 3-4 ปี ซึ่งมีลักษณะสมส่วน เขาไม่บิดเบี้ยว และไม่ผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน เลี้ยงด้วยพืชตามธรรมชาติ เสริมด้วยดินโป่ง ซึ่งก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติจะมีการคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์เก็บไว้เพาะเพิ่มจำนวนเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เป็นนวัตกรรมในการจัดการดูแล “วัวแดง” ซึ่งนอกจากการเพาะพันธุ์เพื่อเยียวยาภาวะใกล้สูญพันธุ์แล้ว ยังได้ติดตามความเป็นอยู่ของ “วัวแดง” หลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อการวางแผนการจัดการที่มีประสิทธิภาพต่อไป
นับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้องค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ “วัวแดง” หลังจากที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังมาก่อน และน่ายินดีที่ต่อมาโครงการวิจัยฯ ได้รับความสนใจจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF – World Wide Fund for Nature) และสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอนประจำประเทศไทย (ZSL – Zoological Society of London-Thailand) ให้การสนับสนุน และต่อยอดวิจัย “วัวแดง” ไทย-อินโดนีเซีย แบบคู่ขนาน
ในอนาคตเราอาจเห็น “วัวแดงไทย” ได้รับพัฒนาสู่การเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” เช่นเดียวกับ “วัวแดงอินโดนีเซีย” แต่ในความเป็นจริง “วัวแดงไทย” ในปัจจุบันยังคงจัดเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ที่มีการกำหนดบทลงโทษไว้อย่างชัดเจนสำหรับผู้ลักลอบล่า จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้บนพื้นฐานของการจัดการที่เหมาะสมต่อไป