SMEs ต้องไปต่อ! รวมนโยบายส่งเสริม SMEs ของ 6 พรรคการเมือง เตรียมความพร้อมเลือกตั้ง 2566

วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งของประเทศไทย และรู้ว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศนั้นคือใคร วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะพาทุกคนไปส่อง นโยบายที่เกี่ยวข้องกับ SMEs และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยของแต่ละพรรคการเมืองนั้น มีทิศทางอย่างไร

รวมไทยสร้างชาติ

เพิ่มรายได้ประเทศไทยปีละ 4 ล้านล้านบาท
• เศรษฐกิจโตปีละ 5%
• รายได้ต่อคนเพิ่มขึ้นปีละ 20,000 บาท
• สร้างงานเพิ่ม 6.25 แสนตำแหน่ง

 

พลังประชารัฐ

  • เศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้ กระจายโอกาสด้วยการท่องเที่ยวชุมชน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ สร้างเส้นทางเชื่อมโยงชุมชนสู่ชุมชน
  •  เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างสรรค์สินค้าและโอกาสทางธุรกิจด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ
  • SMEs, Startup และ Social Enterprise สามารถเริ่มธุรกิจได้รวดเร็ว

 

ประชาธิปัตย์

SME ต้องมีแต้มต่อ 3 แสนล้าน

“SMEs” ถือเป็นจักรกลสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ครอบคลุมหลากหลายธุรกิจ เช่น ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น จากข้อมูลในปี 2565 พบว่า มีจํานวนผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 3.2 ล้านราย ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 12.6 ล้านคน โดยมีมูลค่าส่งออกกว่า 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.6 ของยอดการส่งออกรวมตลอดปี

นโยบาย “SME ต้องมีแต้มต่อ 3 แสนล้าน” จึงต้องการยกระดับ ขีดความสามารถของ SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ตลอดจน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ทั้งนี้ จะดําเนินมาตรการเพื่อเป็นแต้มต่อให้กับ SMEs 3 ประการ คือ

  • แต้มต่อที่ 1 ด้านการผลิต สนับสนุนให้ SMEs มีการบริหารธุรกิจที่ทันสมัย บนพื้นฐานของนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการดําเนินธุรกิจ สร้างการยอมรับของตลาด และมุ่งปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Transformation)
  • แต้มต่อที่ 2 ด้านการตลาด ผลักดัน SMEs ให้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยให้สิทธิพิเศษด้านการตลาดในนิทรรศการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการของตนต่อตลาดภายนอกได้
  • แต้มต่อที่ 3 จัดตั้งกองทุน 3 แสนล้านบาท เพื่อให้กลุ่ม SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งทุน

 

เพื่อไทย

นโยบายสร้างประเทศด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลผ่านเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone)

เขตเศรษฐกิจพิเศษและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนที่รัฐบาลปัจจุบันได้ทำมา เป็นแค่คำพูดการตลาดที่จับต้องไม่ได้ และปัญหาหลักของประเทศไม่ได้ถูกแก้ไข การแก้กฎหมายช้าและทำไม่ได้จริง แต่พรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนทั้งหมดให้เป็น “โอกาสด้วยกุญแจ 3 ดอก ด้วยการสร้างเขตธุรกิจใหม่” เพื่อ “ดึงเงินนอก ปลุกเงินใน เปลี่ยนเงินที่หลับใหล เป็นเงินที่สร้างเงิน”

สร้างเขตธุรกิจใหม่ 4 แห่งเป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ ด้วยความพร้อมทางด้านมหาวิทยาลัย สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมเพื่อขับเคลื่อน Startups และ SMEs สู่การสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ประชาชน ด้วยกุญแจ 3 ดอก ดังนี้

  • กุญแจดอกที่ 1 “กฎหมายธุรกิจชุดใหม่” เพื่อเป็นการปลดล็อกปัญหาการทำธุรกิจของ Startups และ SMEs ในทุกมิติรวมถึงดึงเงินนักลงทุนจากต่างชาติ เข้าแก้ไขปัญหาด้านใบอนุญาตต่างๆ ปัญหาแรงงาน การนำเข้าส่งออก และการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ 
  • กุญแจดอกที่ 2 “สิทธิประโยชน์ใหม่” ให้สิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีนำเข้า จะไม่แพ้ที่ใดในโลก
  • กุญแจดอกที่ 3 “ระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่” โดยการสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ระบบการศึกษาและการผลิตคนทำงานใหม่ ระบบธนาคารใหม่ เพื่อผลักดันให้ภาคเอกชนขับเคลื่อนได้

 

ไทยสร้างไทย

นโยบายยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 เป็นเวลา 3 ปี

เพื่อเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ SMEs ไทย ประกอบกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา SMEs ไทย ต้องประสบกับปัญหาจากผลกระทบอย่างหนักของเศรษฐกิจถดถอยอันเป็นผลมาจากโควิด-19 จึงเห็นสมควรที่จะออกมาตรการมาช่วยเหลือ SMEs โดยให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล SMEs เป็นเวลา 3 ปี 

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายได้สุทธิไม่เกิน 3 แสนบาท/ต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี

ปัญหาของคนไทยในวัยหนุ่มสาวที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วัยทำงานจะคล้ายๆ กัน มีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลตนเองและครอบครัว ภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลพ่อแม่ ค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับหมดไปกับการกินอยู่หลับนอน และค่าเดินทาง ในขณะที่รายได้ยังคงเท่าเดิม สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในชีวิตก็คือหนี้สินพร้อมดอกเบี้ยที่ใช้คืนเท่าไหร่ก็ไม่หมด  

พรรคไทยสร้างไทย จึงมีนโยบายที่จะเสนอให้มีการออกกฎหมายมาลดภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนที่อยู่ในวัยทำงานกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มคนไทยประมาณ 2 ล้านคน ที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวมีรายได้ประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนบุคคลต่างๆ ในตอนที่ยื่นแบบเสียภาษีแล้ว จะมีเงินได้สุทธิทั้งปีอยู่ประมาณ 260,000-300,000 บาท ซึ่งปัจจุบันสำหรับผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้ว แต่คนกลุ่มนี้ยังต้องเสียภาษีจากรายได้ในส่วนที่เกิน 150,000 บาท จะต้องนำเงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่เกิน 150,001 บาท ไปคำนวณตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นโยบายของพรรคก็คือการเสนอให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่อยู่ในช่วง 150,001 บาท แต่ไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ซึ่งเดิมผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 คิดเป็นเงินภาษีเท่ากับ 7,500 บาท ที่จะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษี 

พรรคก้าวไกล

ลดรายจ่าย SMEs : บรรเทาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

  • รัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง สำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (6 เดือนแรก)
  • เปิดให้ SMEs นำค่าแรงมาหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 2 เท่า (2 ปีแรก)

ลดรายจ่าย SMEs : ลดภาษีนิติบุคคล SME ให้เหลือ 0-15%

  • ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล SMEs ให้เหลือ 0-15%
  • ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ SMEs (ช่วงกำไร 3 แสนบาท ถึง 3 ล้านบาท) จาก 15% เป็น 10%
  • ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ SMEs (ช่วงกำไร 3 ล้านบาท ถึง 30 ล้านบาท) จาก 20% เป็น 15%
  • เพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับทุนใหญ่ (ช่วงกำไรเกิน 300 ล้านบาท) จาก 20% เป็น 23%

ลดรายจ่าย SMEs : หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษี เพิ่มจาก 60% เป็น 90%

  • เปิดให้ SMEs หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษีบุคคลได้เพิ่มเป็น 90% (จากเดิม 60%)

เพิ่มแต้มต่อให้ SMEs : หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน

  • เพิ่มลูกค้าให้ SMEs โดยการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่เลือกซื้อสินค้า SMEs ได้รับแถมสลากกินแบ่งของรัฐบาลไปลุ้นรางวัล
  • สำหรับคนซื้อ หรือประชาชนทั่วไป : เมื่อซื้อสินค้าจาก SMEs ครบ 500 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ (จำกัดไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือน และจำนวน 10 ล้านคน/เดือน)
  • เพิ่มโอกาสลุ้นหวยให้ SMEs โดยการนำยอดขายมาแลกเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ด้วย
  • สำหรับคนขาย หรือผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ : เมื่อขายสินค้าครบ 5,000 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ

เพิ่มแต้มต่อให้ SMEs : ลดหย่อนภาษีให้ธุรกิจที่ซื้อจาก SMEs

  • เปิดให้นิติบุคคลที่ซื้อสินค้าจาก SMEs เพิ่มขึ้นจากปีก่อน สามารถหักภาษีนิติบุคคลได้ 1.5 เท่าในส่วนที่ซื้อจาก SMEs เพิ่มเติม
  • ส่งเสริมให้ธุรกิจซื้อสินค้าและบริการจาก SMEs มากขึ้น รวมถึงเลือก Outsource บริการไปที่ SMEs
  • ป้องกันไม่ให้กลุ่มทุนใหญ่ขยายกิจการกินรวบทั้งห่วงโซ่อุปทาน

เติมตลาดให้ SMEs : โควตาชั้นวางสำหรับสินค้า SMEs ในห้างใหญ่

  • กำหนดสัดส่วนชั้นวางสำหรับสินค้า SMEs ในห้างสมัยใหม่ (เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ) เพื่อเปิดโอกาสให้สินค้า SMEs ได้มีโอกาสมาวางขาย และช่วยให้สินค้า SMEs มีโอกาสเข้าถึงตลาดใหญ่ได้เร็วขึ้น

เติมตลาดให้ SMEs : คูปองแลกซื้อสินค้าท้องถิ่น

  • ให้ประชาชนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีเครดิต (จำกัดไม่เกิน 1,000 บาทต่อปี) สำหรับการแลกซื้อสินค้าท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์เกษตร ในราคาครึ่งหนึ่ง (โดยรัฐสมทบอีกครึ่ง) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาเลือกซื้อ-สนับสนุนสินค้าเหล่านี้ให้เติบโตต่อไป