ของดีจังหวัดชัยภูมิ กล้วยหอมทองหนองบัวแดง สินค้า GI บุกญี่ปุ่น ฟันรายได้กว่า 40 ล้านบาท

พาณิชย์ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “กล้วยหอมทองหนองบัวแดง” สินค้าไทยขึ้นชื่อจากจังหวัดชัยภูมิ คาดสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทต่อปี

วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและชุมชน สนับสนุนสินค้าที่มีอัตลักษณ์ในพื้นที่แหล่งผลิตแต่ละท้องถิ่น ให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI สร้างชื่อเสียงและรายได้มากมายเข้าชุมชน ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น พร้อมส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน GI “กล้วยหอมทองหนองบัวแดง” เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากของจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้เกษตรกร และสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดอย่างยั่งยืน

สำหรับ “กล้วยหอมทองหนองบัวแดง” เป็นการนำกล้วยหอมทองพันธุ์กาบดำ จากจังหวัดลพบุรี มาปลูกในพื้นที่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ และด้วยพื้นที่ราบสลับกับเนินเขาเตี้ย ภูเขาสูงสลับซับซ้อน ลักษณะดินร่วนปนทราย ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะแร่ธาตุโพแทสเซียมที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของต้นกล้วย ส่งผลให้กล้วยหอมทองหนองบัวแดง มีผลยาวใหญ่ สีเหลืองนวล เนื้อแน่น เหนียวนุ่ม และมีเนื้อละเอียดกว่ากล้วยชนิดอื่น ลักษณะเปลือกนั้นจะมีความหนาและไม่มีจุดดำ เนื้อกล้วยจึงไม่ช้ำ ทำให้สะดวกและเอื้อต่อการขนส่ง

ด้วยอัตลักษณ์ที่ชัดเจนนี้ ทำให้กล้วยหอมทองหนองบัวแดงเป็นพืชเศรษฐกิจหุบเขาเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดชัยภูมิ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งตลาดในไทย และยังเป็นซอฟต์พาวเวอร์เผยแพร่อัตลักษณ์ไทยสู่นานาชาติ มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สร้างชื่อเสียง รายได้ให้กับเกษตรกรและพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ปีละไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท

สำหรับวิสาหกิจชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่น ที่มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพมีชื่อเสียง สามารถขอคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368