กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย โต 11.7% SMEs ทำอย่างไร ให้แบรนด์โตอย่างยั่งยืน ในยุคดิจิทัล

อานิสงส์วิกฤต ดัน กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลร่างกาย (Personal Care) โต 11.7% SMEs ทำอย่างไร ให้แบรนด์โตอย่างยั่งยืน ในยุคดิจิทัล

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) จัดงานสัมมนาในรูปแบบ Interactive ภายใต้แนวคิด finbiz industry hack 2023 ติดอาวุธอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลับคมธุรกิจ รู้ทันพฤติกรรมลูกค้า อ่านเกมคู่แข่งให้ขาด พร้อมวางแผนธุรกิจ เพื่อลดต้นทุน สร้างยอดขาย สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

นางพรรณวลัย อินทราพิเชฐ หัวหน้าบริหารการตลาดลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Product) ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักและสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยในปี 2565 มีมูลค่าตลาดรวมเกือบ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ส่วนในปี 2566 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดของกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องได้อีก 5.5%

นางสาวสุทิพา ปัญญามหาทรัพย์ Chief PC & HCC Business Officer บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตดีขึ้นหลังซบเซามานานจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะสินค้ากลุ่ม Personal Care ที่โตถึง 11.7% สำหรับเทรนด์ผู้บริโภคที่คาดว่าจะมาแรงในตลาดอุปโภคบริโภคของไทย คือ Power to the People การที่ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้า

ทางบริษัทผู้ผลิตหรือแบรนด์ต่างๆ ได้เริ่มเปิดโอกาสและรับความคิดเห็นด้านต่างๆ จากผู้บริโภค พร้อมนำ data มาวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น ในส่วนของอีคอมเมิร์ซนั้นมีแนวโน้มที่เติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่เติบโตขึ้นปีละ 100% แต่สินค้าที่ขายทางออนไลน์นั้นกำไรค่อนข้างน้อย เพราะต้นทุนค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ ในปี 2566 เป็นยุคของ Hybrid World ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายที่ร้านค้า (Physical Store) มากขึ้น หลังจากอัดอั้นและช้อปผ่านออนไลน์มาตลอด ผู้ประกอบการจึงต้องดูแลช่องทางการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้สมดุล ไม่ควรทุ่มไปช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ซึ่งในปีนี้คาดว่า ช่องทางออนไลน์จะเติบโตเพิ่มขึ้น เพียง 10-20% โดยสินค้าที่ขายดีคือ สินค้าแฟชั่น อาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเพื่อสุขภาพและดูแลร่างกาย

ด้าน นางปิยนุช ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ Co-Founder & Head of Strategies บริษัท เฮด วันฮันเดรด จำกัด ได้เล่าถึงธุรกิจกับการสร้างแบรนด์ยุค 2023 ที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เปรียบเสมือนยุคที่ทำธุรกิจแบบนั่งตกปลา นั่งอยู่เฉยๆ ปลาก็มางับเหยื่อ แต่ยุคนี้ต่อให้นำเบ็ดตกปลามาหมดทุกรูปแบบ ปลาก็อาจจะยังไม่มากินเหยื่อ นั่นเป็นเพราะบริบทของตลาดได้เปลี่ยนไป

ปัจจุบันจึงต้องเชื่อมทุกช่องทางแบบ Omni-Channel เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และทำให้ทุก Touch Point เป็นประสบการณ์ที่ดี ลูกค้ารักแบรนด์และอยากอยู่ด้วยกันไปนานๆ นอกจากนั้น ยังบอกถึง เทคนิคการสร้างแบรนด์ยุคดิจิทัล 1. ไปไหนไปด้วย (Be Where the Customer is) ผู้บริโภคอยู่ไหน แบรนด์ต้องอยู่ตรงนั้น  2. ยกระดับประสบการณ์ (Seamless Experience) ทำทุกอย่างให้ผู้บริโภคประทับใจ ทำ Omni-Channel Marketing โดยเชื่อมต่อทุกช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ 3. คอนเทนต์โดน + ให้จดจำ (Content with Impact) บอกเล่าสั้นๆ ได้ใจความและตรงประเด็น ใช้การตัดสินใจด้วยอารมณ์ให้เป็นประโยชน์

ขณะที่ นางกนกพร จูฑา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าธุรกรรมทางการเงินภายในประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ความท้าทายของผู้ประกอบการรายเล็กคือ “ต้นทุน” ที่สูงกว่ารายใหญ่ โดยต้นทุนการขายของผู้ประกอบการรายเล็กในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเฉลี่ยอยู่ที่ 75% ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่ที่ 70% ซึ่งส่งผลต่ออัตรากำไรที่ต่างกันเป็นเท่าตัว ยิ่งในปีนี้ยังมีแรงกดดันด้านต้นทุนอันเนื่องมาจากเงินเฟ้อ ในขณะที่การปรับราคาขายในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นทำได้ยาก การบริหารจัดการต้นทุนและประสิทธิภาพการดำเนินงานจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อกำไรของธุรกิจ