คนปราจีนฯ ไม่ยอม! บุกยื่นหนังสือนายกฯ แก้ปัญหา ซีเซียม-137

คนปราจีนฯ ไม่ยอม! บุกยื่นหนังสือนายกฯ แก้ไขปัญหา ซีเซียม-137 หลุดออกมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน จี้บริษัทต้นเหตุเปิดข้อมูลรับผิดชอบ ขีดเส้น 7 วัน ถ้าไม่ดำเนินการ จะมีมาตรการขั้นเด็ดขาด ด้าน “อภัยภูเบศร” พร้อมมอบชุดตรวจรังสี ช่วยเกษตรกร

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ประชาสังคม จ.ปราจีนบุรี ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้แก้ไขปัญหา ซีเซียม-137 ที่หลุดออกมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน จังหวัดปราจีนบุรี อย่างเร่งด่วน โดยมีนายสมภาส นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง

โดยข้อความในหนังสือ ระบุว่า กรณีวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี มีการแจ้งความเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และมีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น

ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนปราจีนเป็นอย่างมาก จากการที่มีข้อมูลมากมาย จากผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย จนไม่รู้จะเชื่อใครดี และหน่วยราชการที่ออกมาแถลงข่าวไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริง และเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส

ภาคประชาสังคมจังหวัดปราจีนบุรี เห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่จะให้จังหวัดปราจีนบุรีเป็นผู้รับผิดชอบโดยลำพัง ทั้งในเรื่องการสื่อสาร การบริหารจัดการ องค์ความรู้ เทคโนโลยี จึงใคร่ขอเสนอดังนี้

คือ 1. มีกรรมการในระดับชาติ โดยมีภาคประชาสังคมร่วมเป็นกรรมการ ภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น ต้องเร่งตรวจสอบการปนเปื้อน หาปริมาณรังสีและการกระจายตัว ระดมเครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ มาช่วยและสรุปผลให้เร็วที่สุด เพื่อลดความสับสนของสังคม

พร้อมมาตรการการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น มีมาตรการจัดการ ฝุ่นเหล็กและวัสดุต่างๆ ที่ปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137 ให้ปลอดภัยอย่างชัดเจน ว่าไปอยู่ไหน จนขั้นตอนสุดท้าย มีการติดตาม มีการรายงานอย่างโปร่งใส ทำให้ประชาชนมั่นใจ และต้องมีการสื่อสาร การให้ข้อมูลที่เป็นมืออาชีพ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน บนพื้นฐานของความจริง ทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นและสาเหตุของการสูญหายโดย มีการระบุเวลาและเหตุการณ์ตลอดเส้นทางที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ส่วนในระยะยาว ต้องมีการติดตามผลกระทบในระยะยาว ทั้งทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟู มีการเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะ ตลอดจนมีการเปิดเผยข้อมูล ชนิด จำนวน ความรุนแรง มาตรการการรับมือของวัสดุกัมมันตรังสี ที่มีในพื้นที่ทั้งหมดและมีมาตรการ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการกำกับดูแลและการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ

2. มีมาตรการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เช่น การยกเลิกการรับซื้อสินค้าทางการเกษตร รายได้ที่หายไปของภาคการบริการและท่องเที่ยว โดยผู้ก่อปัญหาต้องรับผิดชอบกับความเสียหายนี้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา และ 3. เพื่อลดผลกระทบในการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร ขอให้หน่วยงานออกหนังสือรับรองความปลอดภัยจากกัมมันตภาพรังสีฟรี

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบที่รุนแรงที่สุด ต่อชีวิต ภาพลักษณ์ ชื่อเสียงของคนปราจีนบุรี ที่มุ่งเน้นการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอด

และยังอาจส่งผลกระทบความเชื่อมั่นในมาตรการการจัดการกับวัสดุกัมมันตรังสีของประเทศไทยด้วย ภาคประชาสังคมจังหวัดปราจีนบุรี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะแก้ปัญหาในครั้งนี้ โดยเร็วที่สุดเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายเพื่อการจดจำของประชาชน

ทั้งนี้ วันเดียวกัน ประชาสังคม จ.ปราจีนบุรี จะเดินทางไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ตรวจสอบธรรมาภิบาลของโรงงานผลิตไฟฟ้าที่เป็นต้นเหตุ โดยขอให้เปิดเผยข้อมูลการถือครองวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ตลอดถึงมาตรการการเก็บรักษา และแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าวซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงจังหวัดปราจีนบุรีจนเศรษฐกิจพังพินาศไปหมด

สำหรับประชาสังคม จ.ปราจีนบุรี ประกอบด้วย สมัชชาสุขภาพ จังหวัดปราจีนบุรี, สหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรีจำกัด, สมาคมพลเมืองอาสาพัฒนาปราจีนบุรี, เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน, อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน, สมาคมจิตอาสาพัฒนาปราจีนบุรี, เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำพระปรง, และเครือข่ายอนุรักษ์ยางนา

 

ด้าน ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า “จากเหตุการณ์การรั่วไหลของสารซีเซียม ทำให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องการเดินทางมา รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ขอเรียนว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ อ.กบินทร์บุรี ซึ่งห่างจาก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ประมาณ 50 กม. จากการตรวจวัดล่าสุดของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยังไม่พบการปนเปื้อนนอกโรงงานที่เกิดปัญหาและไม่พบการปนเปื้อนในชุมชน อ.กบินทร์บุรี แต่อย่างใด

และจากการตรวจวัดรังสีที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยใช้เครื่องวัดของโรงพยาบาล จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่พบค่ารังสีแต่อย่างใด จึงขอให้มั่นใจว่าการเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมโรงพยาบาลและมูลนิธิฯ สามารถทำได้เป็นปกติ เรามีการเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างเต็มที่เช่นกัน เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยต่อ ประชาชนผู้ใช้บริการและผู้บริโภค”

ต่อข้อถามที่ว่า แปลงปลูกสมุนไพรของมูลนิธิ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศนั้น ดร.ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า “เรามีอยู่ที่ เชียงใหม่ ยโสธร ชัยภูมิ กาญจนบุรี ปราจีนบุรี (อ.เมือง) และ สระแก้ว เราไม่มีแปลงปลูกที่ อ.กบินทร์บุรี แต่อย่างใด แปลงปลูกที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ อ.เมือง ซึ่งห่างจาก อ.กบินทร์บุรี ถึง 50 กม. 

ปกติเรามีการตรวจสอบแปลงปลูกเกษตรอินทรีย์อย่างสม่ำเสมอและตรวจสอบสินค้าทุกล็อตตามมาตรฐาน รวมทั้งการปนเปื้อนโลหะหนัก จุลินทรีย์ อย่างเข้มข้นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เราจะเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังให้เข้มข้นขึ้น และมีการเพิ่มตรวจวัดรังสีทุกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ จึงขอให้ประชาชนทุกท่านมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้ามูลนิธิ

เรายืนยันจะดูแลเกษตรกรของเราโดยจะมอบเครื่องตรวจรังสี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มเกษตรกรเครือข่าย ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนปราจีนบุรี ถือเป็นมหันตภัยครั้งใหญ่หลวง มากกว่าน้ำท่วมใหญ่ 2556 เหมือนไฟไหม้ทั้งจังหวัด ประชาชนเสียขวัญกันมาก จึงอยากให้ผู้รับผิดชอบเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่จังหวัดปราจีนบุรีอีกครั้ง” ดร.ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว