เปิดอินไซต์! 8 เรื่องจริง การเป็นหนี้ ของคนไทย ส่วนใหญ่เป็น วัยทำงาน

เปิดอินไซต์! 8 เรื่องจริง การเป็นหนี้ ของคนไทย ส่วนใหญ่เป็น วัยทำงาน

เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงิน คนส่วนใหญ่จะนึกถึง การกู้เงิน เป็นหลัก ซึ่งทำให้มีห่วงติดตัวที่เรียกว่า เป็นหนี้ และส่วนใหญ่ก็คิดว่า ไหนๆ แล้วก็กู้ให้เต็มที่ไปเลย เผื่อจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉินในอนาคต โดยไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็นในการใช้เงินและภาระการผ่อนชำระรายเดือนที่ตามมา

ในตอนหนึ่งของ เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยถึง 8 ข้อเท็จจริงการเป็นหนี้ของคนไทย สามารถสรุปได้ ดังนี้

1. เป็นหนี้โดยไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนหรือถูกต้อง : 4 ใน 5 ของปัญหาในขั้นตอนการเสนอขายสินเชื่อของสถาบันการเงิน คือ ลูกหนี้มักได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ย วิธีการคิดดอกเบี้ย นอกจากนี้ ลูกหนี้บางส่วนยังได้รับข้อมูลด้านเดียว เช่น โปรโมชันผ่อนน้อย แต่ไม่บอกให้ชัดเจนว่าต้องผ่อนนาน

2. เป็นหนี้เพราะมีเหตุจำเป็น : กว่า 62% ของครัวเรือนไทยมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไม่เพียงพอ และหากเกิดเหตุที่ทำให้รายได้ลดลง 20% จะมีครัวเรือนเกินครึ่งที่มีเงินไม่พอจ่ายหนี้ ทำให้ต้องไปกู้จากทั้งในและนอกระบบเพื่อดำรงชีพ และส่วนใหญ่ไม่สามารถจ่ายคืนได้ เพราะรายได้ไม่แน่นอน

3. เป็นหนี้นาน : มากกว่า 1 ใน 4 ของคนอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ในภาคการเกษตรที่ได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลานาน รวมทั้งหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ลูกหนี้มักจ่ายขั้นต่ำ จึงทำให้หนี้หมดช้า

4. เป็นหนี้เสีย : ลูกหนี้ 10 ล้านบัญชีที่เป็นหนี้เสีย โดยเกือบครึ่งหรือ 4.5 ล้านบัญชี เพิ่งเป็นหนี้เสียในช่วงโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้ในภาคการเกษตร

5. เป็นหนี้ไม่จบสิ้น : เกือบ 20% ของบัญชีหนี้เสียถูกยื่นฟ้อง โดย 1 ใน 3 ของลูกหนี้ในคดีจบลงด้วยการยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดแล้วก็ยังปิดหนี้ไม่ได้ และอาจถูกอายัดทรัพย์เพิ่มเติม

6. เป็นหนี้นอกระบบ : 42% ของกว่า 4,600 ครัวเรือนทั่วประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือแก้หนี้ มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท ซึ่งการเป็นหนี้นอกระบบมาจาก (1) เข้าไม่ถึงหนี้ในระบบ (2) เลือกกู้นอกระบบเพราะสะดวก ได้เงินเร็ว ไม่ต้องมีหลักประกัน (3) ขอสินเชื่อในระบบเต็มแล้ว จนต้องกู้หนี้นอกระบบไปจ่ายหนี้ในระบบ

7. เป็นหนี้เร็ว : คนวัยเริ่มทำงาน (อายุ 25-29 ปี) มากกว่า 58% เป็นหนี้ และมากกว่า 25% เป็นหนี้เสีย (NPL)

8. เป็นหนี้เกินตัว : เกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10-25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน จนทำให้รายได้เกินครึ่งต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้