“หอการค้า” คาด “วาเลนไทน์-มาฆบูชา” เงินสะพัดกว่า 10,000 ล้านบาท

หอการค้าเผย “วาเลนไทน์-มาฆบูชา” ประกอบกับหยุด 3 วัน คาดส่งผลมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาท แม้กังวลว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าน่าจะดีขึ้นในอนาคต

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจทัศนคติ พฤติกรรม และการใช้จ่าย ช่วงวันวาเลนไทน์และวันมาฆบูชา กลุ่มตัวอย่าง 1,163 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึง 3 กุมภาพันธ์ พบว่า  บรรยากาศความคึกคักของวันวาเลนไทน์ในปี 2560 นี้จะน้อยว่าปีที่ผ่านมา 40.3% ขณะที่บรรยากาศความคึกคักวันมาฆบูชามีมากกว่าปีที่ผ่านมา 50.1% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากเป็นประชาชนยังมองเศรษฐกิจแย่ แต่ยังมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ขณะที่เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงวันดังกล่าวและหยุด 3 วัน จะทำให้มีเงินสะพัดอยู่ที่กว่า 10,000 ล้านบาท จากการใช้จ่ายในวันวาเลนไทน์ มาฆบูชา และการท่องเที่ยว

โดยจากการสำรวจการใช้จ่ายช่วงวันวาเลนไทน์ ความคึกคักในปีนี้จะน้อย เนื่องจากประชาชนยังมองในเรื่องของเศรษฐกิจยังแย่ ราคาสินค้าแพงขึ้น และการใช้จ่ายกว่า 67.5% จะเป็นการซื้อดอกไม้ รองลงมาของขวัญอยู่ที่ 37.9% และการใช้จ่ายส่วนใหญ่ของประชาชนจะพบว่าหมดไปกับการร้องคาราโอเกะ 50.8% ท่องเที่ยวในประเทศ 15.9% การซื้อของขวัญ 45.6% ทั้งนี้ ส่งผลให้การใช้ของประชาชนเพิ่มขึ้นอยู่ที่เฉลี่ย 2,262 บาทต่อคน ทำให้คาดการณ์เงินสะพัดในช่วงวันวาเลนไทน์อยู่ที่ 3,707 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.89% จากปีก่อน

“คนส่วนใหญ่ที่สำรวจก็พบว่าจะนำเงินเดือนออกมาใช้จ่ายในช่วงนี้ ขณะที่การซื้อปริมาณของสินค้าจะเท่าเดิม แต่มูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ ทัศนคติเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่พบว่านักศึกษาจะฉลองวันวาเลนไทน์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ถึง 42.3% อย่างไรก็ดี  สำหรับทัศนคติประเด็นอื่นๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ดูแลในช่วงวันวาเลนไทน์ที่จะทำให้วัยรุ่นเปลี่ยนสถานที่มีการมีเพศสัมพันธ์ 58.0% เรื่องการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันอันควร 57.2% การเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันวาเลนไทน์เพื่อลดการมีเพศสัมพันธ์ของวันรุ่น 55.2% เป็นต้น

ขณะที่การสำรวจการใช้จ่ายช่วงวันมาฆบูชา พบว่า ปีนี้จะมีความคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา และกิจกรรมที่ประชาชนส่วนใหญ่จะไปทำ  89.2% จะหมดไปกับการทำบุญ รองลงมา 66.1% การตักบาตร 37.5% ทำทาน ส่วนการใช้จ่ายของประชาชนจะพบว่า คนต่างจังหวัดจะมีการใช้จ่ายมากอยู่ที่ 2,464 บาทต่อคน ขณะที่คนกรุงเทพและปริมณฑลจะใช้จ่ายอยู่ที่ 2,363 บาทต่อคน ทำให้คาดการณ์เงินสะพัดในช่วงวันมาฆบูชาอยู่ที่ 3,181 ล้านบาท หรือประมาณ 19.41%

สำหรับมูลค่าการใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้น 30.8% รวมถึงจำนวนชิ้นที่ซื้อก็จะเพิ่มขึ้น 48.4% โดยเงินที่ใช้จ่าย 60.0% จะมาจากเงินเดือน 30.8% มาจากเงินออม และการใช้จ่ายจะหมดไปกับการทำบุญ กิจกรรมทำบุญ การเดินทางท่องเที่ยว ทั้งในและนอกบ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ดี จากการสำรวจพบว่าการใช้จ่ายในวันมาฆบูชาของประชาชนจะมากกว่าวันวาเลนไทน์ แม้จะกังวลเรื่องของเศรษฐกิจ แต่ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าทำบุญไปโดยคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น

ที่มา : ประชาชาติออนไลน์