หนี้นอกระบบ ทำชีวิตหวิดพัง ทั้งฉลาด ทั้งขยัน ทำไมยังเกือบล้มละลาย

นี้นอกระบบ ทำชีวิตหวิดพัง ทั้งฉลาด ทั้งขยัน ทำไมยังเกือบล้มละลาย

ชื่อของ คุณวรวุฒิ อุ่นใจ หลายคนอาจรู้จักเขาในนาม ตัวจริงแห่งวงการอีคอมเมิร์ซ ก่อนหน้านี้ เคยเป็นเจ้าของกิจการ B2S และ ออฟฟิศเมท ที่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ สร้างรายได้หลักพันล้านบาท มาแล้ว

ปัจจุบัน เขาผันมาลงการเมืองเต็มตัว ในฐานะรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า มีเป้าหมายหวังยกระดับ “คนตัวเล็ก” หรือ SMEs ไทย ให้มีศักยภาพ สามารถยืนได้อย่างสง่างามในเวทีโลก

อย่างไรก็ตาม กว่าที่ คุณวรวุฒิ จะเดินทางมาถึงวันนี้ กับบทบาท “นักธุรกิจ” นั้น เขาต้องผ่านมาแล้วหลายวิกฤต โดยเฉพาะเรื่อง “หนี้นอกระบบ” นับเป็นปมใหญ่ที่ฝังใจมาตลอดชีวิตก็ว่าได้

“ผมเริ่มต้นชีวิตการทำงานกับธุรกิจที่บ้าน ที่อยู่ในภาวะหนี้ท่วมใกล้ล้มละลาย ส่วนหนึ่งเพราะความที่คุณพ่อมีหนี้สินเยอะ ท่านไม่ใช่คนสำมะเลเทเมา เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ มีการพนันบ้าง ตรงชอบซื้อลอตเตอรี่เสี่ยงโชค เคยถามแกว่าซื้อลอตเตอรี่ทำไม ได้คำตอบว่าเผื่อถูกรางวัลที่ 1 จะได้ปลดหนี้ได้เสียที นั่นคือภาวะหนี้ท่วมตัว ทำให้คุณพ่อมีความหวังลมๆ แล้งๆ กับลอตเตอรี่” คุณวรวุฒิ เกริ่นมาอย่างนั้น

ก่อนเล่าต่อ สำหรับสาเหตุหลัก ที่ทำให้คุณพ่อของเขา เป็นหนี้มาก ก็คือ ภาระชีวิตที่หนักหนาเอามากๆ เพราะอากงของเขาป่วยเป็นอัมพาตติดเตียงตั้งแต่อายุ 40 ต้นๆ คุณพ่อของเขา เลยกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องทำงานหาเงินตั้งแต่อายุ 16-17 ปี แถมยังเป็นลูกชายคนโต มีน้องอีก 8 คน และยังมีลูกอีก 7 คน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมต้องทำงานหาเงินดูแลพ่อตัวเองที่ป่วยเป็นอัมพาตตั้งแต่วัยหนุ่ม และดูแลน้องๆ ในวัยเรียนอีก 8 คน

และเมื่อแต่งงาน ก็ยังมีลูกอีก 7 คน ที่กำลังเด็กอยู่ในวัยเรียนอีก ตั้งแต่จำความได้ คุณพ่อของเขา ทำงานหนักเช้าถึงมืดทุกวันไม่มีวันหยุดติดต่อกันหลายสิบปี ตั้งแต่ตนยังไม่เกิด จนเรียนจบมหาวิทยาลัย พ่อของเขา เป็นคนค้าขายที่เฉลียวฉลาดมาก แต่ด้วยภาระที่หนักหนามาก ยังไงก็เป็นหนี้สินท่วมตัวมาตลอด

“ตัดประเด็นไปเลยว่า พ่อของผมโง่หรือขี้เกียจ จึงทำให้เป็นหนี้ไปได้เลย เพราะท่านทั้งฉลาดทั้งขยัน แต่ทำไมทำธุรกิจแล้วยังหนี้ท่วม นอกจากภาระชีวิตแล้ว ก็เป็นเพราะการเป็นหนี้นอกระบบนี่แหละครับ ตอนผมมาเริ่มช่วยทำงานกับธุรกิจที่บ้าน ผมรวบรวมตัวเลขยอดขายทั้งปีอยู่ที่ 6-7 ล้านบาทต่อปี แต่พอมาดูตัวเลขฝั่งหนี้ แกเป็นหนี้ทั้งหมด 17 ล้านบาท”

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ

“แรกๆ ผมงงมาก แกเป็นหนี้เยอะแยะขนาดนี้ได้อย่างไร คำตอบที่พบคือ กู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่า แกเคยสอนผมว่า ชีวิตแกไม่เคยเช็คเด้ง และคนค้าขายต้องรักษาเครดิตตัวเองด้วยชีวิต นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด เงินกู้ในระบบแกมีมั้ย มีครับ 2 ล้านจาก 17 ล้าน ที่เหลือเงินกู้นอกระบบล้วนๆ” คุณวรวุฒิ เล่าอย่างนั้น

และว่า อย่างไรก็ตาม โชคดีที่เงินกู้นอกระบบของคุณพ่อของเขา ก็คือ เงินจากโต๊ะแชร์ และการแลกเช็คเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้กู้จากมาเฟียเงินกู้นอกระบบแบบในปัจจุบัน ไม่งั้นคงโดนอุ้มไปแล้ว

“การแลกเช็ค ก็คือ สมมติว่าเราไปเอาเช็ค จากเจ้าหนี้มา 1 แสนบาท ขึ้นเงินได้วันพรุ่งนี้ เราก็เขียนเช็ค 1.15 แสน ให้เจ้าหนี้ในอีก 90 วันข้างหน้า เท่ากับอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อเดือน หรือ 60% ต่อปี และการแลกเช็คจะทำกันในหมู่แวดวงพ่อค้าคนรู้จักที่ผู้กู้ต้องเครดิตดี ไม่งั้นถ้าเช็คเด้งขึ้นมาอีกหน่อยไม่มีใครให้แลกเช็คอีก นี่คือสาเหตุที่คุณพ่อผมติดบ่วงของเงินกู้นอกระบบ ที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าในระบบ 6-7 เท่าเลยทีเดียว”

“และยิ่งแลกเช็คกู้เงินใหม่ ไปโปะเงินกู้เก่า หมุนเงินแบบนี้ไปเรื่อยๆ หนี้สินถึงได้เพิ่มพูนเป็นดินพอกหางหมู ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แม้รอดไปวันๆ แต่รอวันล้มหนักแน่ๆ ที่จะมาถึงเมื่อหมุนไม่ทัน หรือเจอวิกฤตที่ทำให้ชอร์ตเงินและไม่มีใครให้กู้อีก นี่คือ ความเครียด หดหู่ ท้อแท้ หมดหวัง ของคนที่ติดบ่วงเงินกู้นอกระบบ ที่ครอบครัวของผมเคยประสบมา” คุณวรวุฒิ เผยเรื่องราวในอดีต ด้วยน้ำเสียงหม่น