เตือนแล้วนะ “กระทะเหล็ก” ไม่ช่วยเพิ่มธาตุเหล็ก บอกเลย โฆษณาโอเวอร์

เตือนแล้วนะ “กระทะเหล็ก” ไม่ช่วยเพิ่มธาตุเหล็ก บอกเลย โฆษณาโอเวอร์

นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีเดีย มีการส่งต่อข้อมูลการขายสินค้ากระทะเหล็ก ที่อวดอ้างสรรพคุณ ว่า มีธาตุเหล็กและช่วยเพิ่มธาตุเหล็กในอาหาร ถือเป็นการโฆษณาเกินจริง เพราะยังไม่มีงานวิจัยใดสามารถยืนยันได้

สำหรับสาเหตุที่ผู้ปรุงอาหารนิยมนำกระทะเหล็ก มาใช้ปรุงประกอบอาหาร เพราะร้อนเร็ว ให้ความร้อนสูง ใช้เวลาในการปรุงอาหารน้อย และยังทำให้อาหารสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการน้อยลง แต่ข้อเท็จจริง คือ ความร้อนสูงที่ใช้ในการปรุง จะทำให้อาหารไขมันสูงบางชนิดก่อให้เกิดสารเคมีที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หากไม่ระวังให้ดี การปรุงอาหารด้วยกระทะเหล็กอาจทำให้อาหารไหม้ได้ง่าย

ดังนั้น การปรุงอาหารด้วยกระทะเหล็กจะดีต่อสุขภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะอาหารหรือวัตถุดิบที่ใช้ ปริมาณ และชนิดของน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหารอีกด้วย

“การขาดธาตุเหล็กส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้หญิง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการมีประจำเดือน และในกลุ่มคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ร่างกายต้องการธาตุเหล็กเพื่อนำมาสร้างเม็ดเลือดแดง อาการของการขาดธาตุเหล็กคือ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตัวซีด เปลือกตาด้านในซีด เจ็บป่วยง่าย เนื่องจากเลือดไม่มีธาตุเหล็กเพียงพอ นำไปสู่ภาวะโลหิตจาง” นพ.สราวุฒิ กล่าว

และว่า ข้อมูลจากระบบคลังสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ยังพบความชุกโลหิตจางในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ ปี 2562-2564 พบร้อยละ 16.4, 15.1 และ 14.6 ตามลำดับ กรมอนามัย จึงเร่งดำเนินการแก้ไข ผลักดันนโยบายและรูปแบบการบริการต่างๆ เพื่อให้หญิงไทยได้รับการส่งเสริมภาวะโภชนาการป้องกันภาวะโลหิตจาง

ส่วนอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อแดง เลือด ตับ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ปลา เป็ด ไก่ และอาหารทะเล, ธัญพืช เช่น ซีเรียล ข้าวโอ๊ต จมูกข้าวสาลี แป้ง และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เป็นต้น และผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ตำลึง ผักโขม ผักบุ้ง บร็อกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น

และควรกินผลไม้ที่เป็นแหล่งของวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง มะละกอ สตรอเบอร์รี ส้มโอ กีวี เป็นต้น ร่วมกับอาหารในมื้อนั้น จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้ง่ายขึ้น