กัญชา อะไรทำได้-ไม่ได้ เร่งทำความเข้าใจ เตือนแล้วไม่ฟัง ต้องดำเนินคดี

กัญชา อะไรทำได้-ไม่ได้ เร่งทำความเข้าใจ เตือนแล้วไม่ฟัง ต้องดำเนินคดี

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ครั้งที่ 6/2565 ซึ่งวาระการประชุมให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และส่งเสริมให้ตลาดกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพเติบโตอย่างยั่งยืน

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า กัญชาทางการแพทย์ เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข เพราะเราเห็นว่า การรักษาที่เรามีอยู่นั้น อาจยังไม่เพียงพอต่อการเยียวยาความเจ็บป่วยในปัจจุบัน ประกอบกับกัญชา เป็นสมุนไพรไทยที่เรามีองค์ความรู้การใช้มานาน หากเราสามารถพัฒนายาที่โลกต้องการบนฐานองค์ความรู้ของเรา ก็จะเป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนายาจากสมุนไพรอื่นๆ ด้วย โดยให้กัญชาเป็น “เรือธง” ของสมุนไพรไทย จูงผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆ ไปด้วย

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล

อย่างไรก็ตาม การพัฒนากัญชานั้น มีความท้าทายกว่ามาก ซึ่ง สธ. พยายามออกกฎระเบียบที่สอดคล้องกับองค์ความรู้ดั้งเดิมและสมัยใหม่ ควบคุมในสิ่งที่ต้องควบคุม แต่ถ้าควบคุมทุกอย่าง กัญชาก็จะไปอยู่ใต้ดินอีก ดังนั้น ช่วงเวลานี้ จึงต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ และประชาชน ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ แต่หากเตือนแล้วไม่ทำ ก็ต้องดำเนินคดี

ปัจจุบันมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีในฐานที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวง “สมุนไพรควบคุม” มากกว่า 10 ราย และตอนนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุกจังหวัดก็พร้อมปฏิบัติการ หากเห็นการค้าดอกกัญชาด้วยรถเร่ หรือสถานที่ที่ไม่แสดงเอกสารอนุญาต มีการสูบในสถานที่จำหน่าย หรือขายอาหารกัญชาไม่มีป้ายแสดง ให้แจ้งไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลย

นพ.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายของการบังคับใช้กฎหมาย คือ การคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามข้อกฎหมายด้วย เพราะไม่เช่นนั้นกฎหมายจะไม่มีความหมาย และทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย ซึ่งจะส่งผลต่อการยอมรับของตลาดกัญชาไทยในระยะยาวอีกด้วย

นอกจากการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเสริมสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและผู้ประกอบการ ทั้งการพัฒนา One Stop Service ในการขออนุญาตที่จะดำเนินการด้านกัญชา การศึกษาวิจัยทางการแพทย์ เพื่อสร้างความต้องการทางการตลาดที่ชัดเจน และการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาที่ตรงกับโรค เพื่อให้เกษตรกรได้ปลูก ผู้ประกอบการได้ผลิต

รวมทั้งการจัดทำคู่มือการใช้กัญชาอย่างปลอดภัยเผยแพร่ให้ประชาชน และข้อควรรู้สำหรับนักท่องเที่ยว จึงขอความร่วมมือประชาชน และผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ในกรณีที่มีข้อสงสัย สามารถติดต่อรับข้อมูลได้ที่สถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข