จุดอ่อน SMEs ไทย ตัวเล็ก-ไร้หลักประกัน แนะ ลดดอกเบี้ย แก้เหลื่อมล้ำ

จุดอ่อน SMEs ไทย ตัวเล็ก-ไร้หลักประกัน แนะ ลดดอกเบี้ย แก้เหลื่อมล้ำ

คุณนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวในหัวข้อ “กลยุทธ์เอสเอ็มอีสู่มั่นคงและมั่งคั่ง” งานสัมมนา “พลิกกลยุทธ์ กอบกู้เศรษฐกิจไทย” จัดโดย คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ว่า SMEs ในประเทศไทยมีทั้งหมดมากกว่า 3 ล้านราย และมากกว่า 87% เป็นรายย่อย (MICRO) ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการค้าและบริการ

ซึ่งจีดีพีของเอสเอ็มอีมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจรวมประมาณ 1 ใน 3 หรือมีสัดส่วน 35.3% ของจีดีพีประเทศ เอสเอ็มอีจ้างแรงงาน 12.6 ล้านคน คิดเป็น 33.5% ของการจ้างงานทั้งประเทศ ขณะที่มูลค่าส่งออกของเอสเอ็มอี 13.7% ของมูลค่าส่งออกของประเทศ

ปัญหาที่มีมายาวนานของเอสเอ็มอีไทย คือ เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งจากการสำรวจถึงสาเหตุ พบว่า ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน 24.02% ไม่มีแผนธุรกิจที่ดี 19.94% ขาดประวัติการชำระเงิน/เป็นกิจการใหม่ 15.11%

ขาดศักยภาพในการทำกำไร/ความสามารถชำระหนี้ได้ 12.82% กิจการไม่เป็นที่รู้จักของสถาบันการเงิน 11.21% ขาดการจัดการทางการเงิน 3.81% เจ้าของหรือผู้บริหารไม่มีความสามารถ 1.33%” คุณนารถนารี กล่าว

คุณนารถนารี กล่าวต่อว่า เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีตัวเล็กยิ่งกระทบมาก อย่าง ระบบรายย่อย (MICRO) กระทบ 77.8% จุดอ่อนที่เอสเอ็มอีต้องเร่งปรับตัว คือ ปัญหาขาดสภาพคล่อง และมีช่องว่างที่จะพัฒนาธุรกิจได้อีกหลายด้าน เพราะเอสเอ็มอีที่มีตราสินค้า มาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการใช้ BCG Model ในธุรกิจยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อย

คุณนารถนารี กล่าวต่อไปว่า ธนาคารเอสเอ็มอีมีความแตกต่างจากธนาคารอื่น เพราะเป็นการให้ความรู้คู่กับทุน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่เอสเอ็มอีต้องดำเนินการ คือ พัฒนาตนเองให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการตลาด เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริการ การพัฒนานวัตกรรม  

โดยการเติบโตของเอสเอ็มอี ต้องมี Ecosystem สนับสนุน ทั้งการสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (Co-payment) การสนับสนุนทุนและผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรม ขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสนับสนุนการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคุมราคาสินค้า/น้ำมัน/สาธารณูปโภค และอื่นๆ

ดร.วิทยา อินาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมกาเคม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวหัวข้อ “ทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน” ว่า สาเหตุที่ทำให้เอสเอ็มอีไม่ประสบความสำเร็จ เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีไทยจะเป็นเพียงโรงงานผู้ผลิต ซึ่งไม่ได้เป็นกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้องเป็น Smile Cure Theory ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัย ทั้งการสร้างแบรนด์ การดีไซน์ รวมถึงมีโรงงานผู้ผลิต การส่งเสริมการขาย และมีการตลาด 

ดังนั้น วิธีการหาแหล่งเงินทุน ต้องเข้าหาแหล่งธนาคารพาณิชย์ หรือต้องทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพ  เพื่อเพิ่มโอกาสมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ แต่อีกแหล่งเงินทุนที่ง่าย หากธุรกิจเอสเอ็มอีมีข้อมูล มีระบบการบริหารธุรกิจอย่างชัดเจน นั่นคือ การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

คุณณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ที่ปรึกษากรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด กล่าวว่า ประเทศนี้เป็นประเทศของคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นประเทศของเอ็มเอสเอ็มอี  ถ้าตามข้อมูลของทางราชการ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีประมาณ 3.1 ล้านราย จริงๆ น่าจะมีมากกว่านี้ เพราะว่าหลายรายคงไม่ได้อยู่ในระบบ เชื่อว่าคนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในระดับนี้น่าจะมีถึง 20 ล้านคน 

ดังนั้น การออกนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจควรจะคำนึงถึงกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นหลัก เพราะหากคนส่วนใหญ่สามารถค้าขายได้ เศรษฐกิจของประเทศก็จะมีเสถียรภาพ ช่วยลดผล กระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน

ทางออกมีทางเดียว คือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งระบบ ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแรงและสมดุลขึ้น พัฒนาอย่างทั่วถึง ที่สำคัญคือ จะส่งผลต่อการลดความขัดแย้งในทุกมิติของสังคม โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองในภาคประชาชน

คุณณัฐพงศ์ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศ ต้องเร่งแก้ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ความเหลื่อมล้ำเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งผู้ประกอบการรายเล็กกับรายใหญ่จะต้องมีภาระดอกเบี้ยเงินกู้หรือความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนที่ไม่ต่างกันมากจนเกินไป

2. นโยบายด้านภาษีของประเทศ จะต้องมุ่งช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยคนที่มีรายได้สูง บริษัทขนาดใหญ่ควรต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า ขณะที่คนตัวเล็กต้องมีภาระภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า 

3. เน้นการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น กระจายงบประมาณไปให้ทั่วถึง เพื่อให้ประเทศได้รับการพัฒนาในทุกระดับ ไม่กระจุกตัว