โควิด พีก ส.ค.-ก.ย. ห่วงกลุ่มเสี่ยง 608  ม.มหิดล เตรียมลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุก

โควิด พีก ส.ค.-ก.ย. ห่วงกลุ่มเสี่ยง 608  ม.มหิดล เตรียมลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุก

สถานการณ์ COVID-19 เดินทางผ่านระลอกแล้วระลอกเล่า จนคาดกันว่าในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงสุดในรอบปี มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเทคนิคการแพทย์ ประกาศพร้อมเคียงข้างประชาชน เตรียมสแตนด์บายพร้อมปฏิบัติการลงพื้นที่เชิงรุกตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ เพิ่มเติมบริการตรวจ RT-PCR และ ATK ให้ประชาชนทั่วไป

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการพัฒนา Ecosystem สาขาเครื่องมือแพทย์ โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ โดยเน้นการใช้ประโยชน์สู่ประชาชน และการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์เพื่อลดการนำเข้า ที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งจากสถานการณ์ COVID-19 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการพัฒนาเครื่องแพทย์ต่างๆ เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดให้บริการห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ อาทิ ชุด PPE และพัฒนาชุดตรวจ ATK ตลอดจนให้บริการประชาชนในการตรวจคัดกรอง ทั้งด้วยวิธี RT-PCR และ ATK ชนิด Professional Use ทั้งในวันธรรมดา และวันหยุด

ตามที่คาดกันว่าในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ COVID-19 จะกลับมาระบาดจนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุดในรอบปีนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวว่า แม้ COVID-19 จะอยู่ในช่วงที่ระบาดเพิ่มขึ้นหรือไม่ การตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR และ ATK ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องเดินทางเข้า-ออกประเทศ ทั้งที่เป็นชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยวิธีการตรวจแบบ RT-PCR เป็นที่ยอมรับทั่วโลก สำหรับที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการตรวจ RT-PCR และ ATK ชนิด Professional Use ทราบผลได้ภายในวันที่ตรวจสำหรับวิธี RT-PCR และทราบผลภายใน 30 นาทีสำหรับการตรวจ ATK

พร้อมบันทึกรับรองผล ตรวจสอบได้ผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ในรูปแบบของ Thailand Digital Health Pass ซึ่งได้รับการยอมรับในการเดินทางเข้า-ออกจากมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และจะมีการขยายวันและเวลาการให้บริการ รวมทั้งได้เตรียมพร้อมปฏิบัติการลงพื้นที่เชิงรุกต่อไป หากมีการแพร่ระบาดที่สูงขึ้นในวงกว้าง

“แม้จะไม่ได้เดินทาง ประชาชนก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรตรวจ RT-PCR สลับกับ ATK เพื่อร่วมป้องกันการแพร่ระบาด และการแพร่เชื้อ COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง “608” ซึ่ง “60” หมายถึง ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี และ “8” หมายถึงผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง ได้แก่ 1. ความดันโลหิตสูง 2. เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ 3. เบาหวาน 4. ไตเรื้อรัง ผู้ป่วยฟอกไต และปลูกถ่ายไต 5. หอบหืด ปอดอักเสบเรื้อรัง 6. ตับแข็ง ตับอักเสบเรื้อรัง 7. ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และ 8. อ้วน

รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งการฉีดกระตุ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต หรืออย่างน้อยช่วยลดความรุนแรงของโรค” ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าว

ปัจจุบัน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการประชาชน ตรวจ RT-PCR และ ATK ชนิด Professional Use ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และอาทิตย์ เวลา 09.00-12.00 น. ณ อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ผู้ที่มีความประสงค์จะเข้ารับบริการ สามารถนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ LINE OFFICIAL :@mumtcovidlab โทร. 09-8749-5238, 0-2441-4371 ต่อ 2610