อาหารโปรไบโอติกส์ บรรเทาโรคทางเดินอาหาร ตลาดโต 2.3 พันล้านเหรียญ

อาหารโปรไบโอติกส์ บรรเทาโรคทางเดินอาหาร ตลาดมหาศาล 2.3 พันล้านเหรียญ

ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า อาหารที่มีโปรไบโอติกส์ กำลังเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 ตลาดผลิตภัณฑ์มีมูลค่า 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ ถูกใช้เพื่อการบรรเทาอาการ หรือรักษาโรค หรืออาการในระบบทางเดินอาหาร

แต่ในอนาคตคาดการณ์ว่า ตลาดจะใหญ่มากขึ้น เพราะเริ่มมีการศึกษาวิจัยประโยชน์ของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้อย่างกว้างขวาง เช่น การเสริมภูมิคุ้มกัน ควบคุมน้ำหนัก เสริมสมรรถนะหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงปรับอารมณ์ ลดซึมเศร้า

แต่อย่างไรก็ตาม โดยในปัจจุบันมีงานวิจัยที่ออกมาว่า โปรไบโอติกส์ที่มีส่วนผสมของ Lactobacillus Rhamnosus GG (LGG) มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดอาการหลังโควิด หรือ Post COVID Syndrome

อย่างไรก็ตาม ดร.ภญ.ผกากรอง ย้ำว่า การกินโปรไบโอติกส์อาจไม่ได้ผลทุกราย โดยเฉพาะถ้าคนที่กินมีสุขภาพร่างกายที่ดีอยู่แล้ว อีกทั้งการรักษาหรือป้องกันโรคยังมีจำเพาะกับชนิดของเชื้อด้วย เช่น Lactobacillus Pantalum ใช้รักษาโรคลำไส้แปรปรวน

ดังนั้น ถ้าจะกินต้องเลือกให้ถูก และผลิตภัณฑ์โปรไบโอติกส์ก็ราคาแพง การกินโปรไบโอติกส์ ควรกินเมื่อมีอาการ ที่มีงานวิจัยรองรับว่าเชื้อตัวดีชนิดนั้นๆ ใช้ได้ผล หรือมีอาการที่แสดงถึงเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ขาดความสมดุล

ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว

อาการเหล่านี้ก็ได้แก่ ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก ผิวหนังมีผื่นขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลีย แต่อย่างไรก็ตาม การกินเชื้อจุลินทรีย์ตัวดีเข้าไป อาจไม่ได้ผลทุกราย เพราะยังมีปัจจัยที่สำคัญ อยู่ 2 เรื่องคือ ระบบนิเวศของเชื้อในแต่ละคนแตกต่างกัน ด้วยพฤติกรรม พันธุกรรม ที่มีมาแต่กำเนิด

จึงนำมาสู่ความรู้พื้นฐาน คือ การดูแลสุขภาพองค์รวม ได้แก่ การเคลื่อนไหวของลำไส้ ด้วยการออกกำลังกาย การเดิน ทำให้เชื้อดีเติบโตเพิ่มจำนวนได้ง่าย การนอนหลับที่เพียงพอ ไม่เครียด ซึ่งความเครียดทำให้เชื้อดีลดลง การกินอาหารที่เป็นอาหารของเชื้อดี ที่เรียกว่าพรีไบโอติกส์

“เราทำงานกว่า 3 ปี นำพืชผักสมุนไพรกว่า 100 ชนิด ไปทดสอบว่ามีฤทธิ์เพิ่มการทำงานของเชื้อดีในลำไส้หรือไม่ พบว่ามีสมุนไพร 9 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นขาว กลอย ลูกยอ ตะไคร้ ขิง เม็ดบัว กระเจี๊ยบเขียว ข่า หอมแดง มีคุณสมบัติช่วยให้เชื้อที่ดีในลำไส้เติบโตได้ดี นับว่ามีประโยชน์ต่อการนำไปดูแลสุขภาพหรือนำไปประกอบธุรกิจ” ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าว

และว่า  ถึงแม้ว่าโปรไบโอติกส์ มีแนวโน้มที่จะนำมาใช้รักษาโรคได้หลากหลาย แต่การนำมาใช้ในการรักษา ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย แต่ในอนาคต หากสามารถตรวจได้ว่าในลำไส้มีเชื้ออะไรอยู่บ้างและมีตัวไหนน้อยหรือมาก ก็จะส่งเสริมให้นำมาใช้ได้ผลจริง แต่ในระหว่างนี้ อาจเลือกเอาวิธีการดูแลสุขภาพ ด้วยอาหารมาใช้ก่อน

โดยเฉพาะพืชผักสมุนไพร รวมทั้งอาหารหมัก ที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทย  แต่ในต่างประเทศต่างก็มีอาหารกลุ่มนี้ และมีการรวบรวมงานวิจัยอย่างเป็นระบบ พบประโยชน์จากอาหารหมักพื้นบ้าน ได้แก่ ต้านอนุมูลอิสระ ลดความดันโลหิต ช่วยให้เชื้อดีสร้างวิตามิน ย่อยโปรตีน ได้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเคยส่งผักดองให้มหาวิทยาลัยเกษตร พบว่า ผักดอง 58 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างมีเชื้อดีอย่างน้อย 2 ชนิด

ส่วนผักเสี้ยนดอง และหัวหอมดอง พบเชื้อดีถึง 4 ชนิด ซึ่งในผักดองนั้น พบว่า มีทั้งอาหารเชื้อคือ ผัก และเชื้อดีด้วย ทำได้เอง ท่านที่สนใจดาวน์โหลดหนังสือ สามารถเข้าไปโหลดได้ในเฟซบุ๊กสถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร