เทรนด์ฮิต ธุรกิจอาหาร โฟกัส “สุขภาพ” รับตลาดแข่งเดือด

ไม่เพียงแค่วงการแฟชั่นหรือเทคโนโลยีเท่านั้นที่จะมีเทรนด์ใหม่ ๆ ออกมาให้ผู้บริโภคตื่นเต้นและผู้ประกอบการต้องปรับตัวกันทุกปี วงการอาหารรวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตเองเป็นอีกหนึ่งวงการที่มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ด้วยอิทธิพลของไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เศรษฐกิจ

ในเรื่องนี้สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งได้ทยอยเปิดเผยคาดการณ์เทรนด์อาหาร ประจำปี 2560 ของตนเองออกมากันอย่างต่อเนื่อง

อาหารสุขภาพยังแรง

กระแสใส่ใจสุขภาพยังคงส่งผลกับการตัดสินใจเลือกอาหารของผู้บริโภคทั้งกลุ่มมิลเลนเนียลอายุ 20-30ปี ที่มีกำลังซื้อสูง เริ่มมีครอบครัว และมีไลฟ์สไตล์รักสุขภาพ และสนใจที่มาที่ไปของอาหารที่ตนกินมากกว่าคนรุ่นพ่อแม่ เช่นเดียวกับเจเนอเรชั่นซีหรือกลุ่มอายุ 5-20 ปี ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพและมูลค่าเพิ่มมากกว่าราคา รวมถึงไม่ติดแบรนด์ จึงพร้อมเปลี่ยนร้านหรือยี่ห้ออยู่เสมอ


ส่งผลให้ปีนี้ร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตจะยังปรับเมนูและไลน์อัพสินค้าให้แสดงถึงความเป็นมิตรกับสุขภาพมากขึ้นอย่างการใช้เนื้อไก่ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นมิตรกับสุขภาพเนื่องจากมีโปรตีนสูงและไขมันน้อยกว่าเนื้อวัวหรือหมู อีกทั้งยังขายให้กับผู้บริโภคได้ทุกวัฒนธรรม เห็นได้จากปีที่แล้วซึ่งร้านอาหาร 250 แห่งทั่วสหรัฐเพิ่มเมนูเนื้อไก่ถึง 325 เมนู ในขณะที่เมนูเนื้อวัวเพิ่มขึ้นเพียง 73 เมนูเท่านั้น

นอกจากนี้การใช้ผงถ่านมาผสมในอาหารจนเป็นสีดำจะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่พบเห็นได้มากขึ้น ทั้งเพื่อเกาะกระแสสุขภาพ และช่วยสร้างการรับรู้จากความแปลกใหม่

ขณะเดียวกันจะได้เห็นการเน้นย้ำเรื่องที่มาและคุณสมบัติของสินค้ามากขึ้นไม่ว่าจะเป็นฉลากจีเอ็มโอที่ระบุว่าสินค้านั้นผ่านการตัดต่อพันธุกรรมหรือไม่รวมถึงฉลากออร์แกนิกแอนติไบโอติกฟรีและฮอร์โมนฟรี ซึ่งแสดงว่าสินค้านั้น ๆ ไม่มีการใช้ยาฆ่าเชื้อและฮอร์โมนโดยปีที่แล้วร้านอาหาร-เครื่องดื่มหลายราย เช่น แมคโดนัลด์ สตาร์บัคส์ ซับเวย์และอื่น ๆ เริ่มปรับตัวหันมาจัดหาวัตถุดิบที่เข้าข่ายเหล่านี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า

ฟาสต์ฟู้ดแข่งราคาดุ

ในขณะที่ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งใส่ใจสุขภาพสภาพเศรษฐกิจตกสะเก็ดในหลายประเทศก็ทำให้อาหารสไตล์คุ้มค่าคุ้มราคาเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคระดับแมสเช่นเดียวกันโดยปีนี้บรรดาร้านฟาสต์ฟู้ดจะยังลอนช์เมนูชุดอาหารราคาประหยัดระดับ4-5เหรียญสหรัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับความนิยมล้นหลามในปีที่แล้ว เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดและจูงใจผู้บริโภคซึ่งหันไปทำอาหารกินเองกันมากขึ้น

ยุคกาแฟโคลด์ บรู

หลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านกาแฟต่างหาวิธีชงกาแฟแบบใหม่ ๆ มาสร้างความแตกต่าง จนมาถึงกาแฟโคลด์ บรู หรือการดริบแบบเย็น ซึ่งปีที่แล้วในอเมริกา กาแฟโคลด์ บรูมีมูลค่าถึง 140 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสตาร์บัคส์และดังกิ้นโดนัทเป็นเชนหลัก ๆ ที่นำมาขาย ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีร้านกาแฟ ร้านอาหาร รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตและผู้ผลิตกาแฟพร้อมดื่มหลายรายลอนช์เมนูกาแฟโคลด์ บรูของตนเองเช่นกัน

ร้านค้ายุค 4.0

นอกจากตัวอาหารแล้ว ผู้ค้าปลีกอาหารทั้งร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นอีก 1 กลุ่มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในปีนี้ เป็นผลจากการเปิดตัว “อเมซอน โก”(Amazon Go) ร้านสะดวกซื้อที่เน้นขายอาหารโดยเฉพาะของยักษ์อีคอมเมิร์ซอเมซอน ซึ่งมีจุดขายที่การไม่ต้องต่อคิวคิดเงิน ด้วยการใช้ระบบคิดเงินอัตโนมัติที่คำนวณราคาสินค้าทันทีที่หยิบใส่ตะกร้า-รถเข็น และตัดเงินจากบัญชีเมื่อออกจากร้าน และการเปิดตัวระบบคิดเงินอัตโนมัติของพานาโซนิคยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่นที่ร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อลอว์สันพัฒนาหุ่นยนต์“เรจิโรโบ” (Reji Robo) ที่สามารถนำสินค้าออกจากตะกร้า คิดเงินและบรรจุลงถุงหิ้วโดยอัตโนมัติ

เรื่องนี้แสดงให้เห็นทิศทางของธุรกิจนี้ที่พยายามตอบโจทย์ด้านความสะดวกสบายของผู้บริโภคยุคใหม่ซึ่งนิยมความง่ายและรวดเร็วพร้อมลดต้นทุนด้านแรงงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันราคากับคู่แข่ง

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์