เผยแพร่ |
---|
ธุรกิจจัดตั้งใหม่ เม.ย. ลดลง 10% สวนทาง ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า มีแววเติบโต
วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผย ตัวเลขจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนเมษายน 2565 พบว่า มีจำนวน 5,376 ราย ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 5,972 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 171,105.77 ล้านบาท จากการวิเคราะห์ พบว่า ในแต่ละปีแนวโน้มการจดทะเบียนของเดือนเมษายนจะมีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่น้อยที่สุดในรอบปี เนื่องด้วยจำนวนวันทำการที่น้อยกว่าเดือนอื่นๆ จากช่วงเทศกาลสำคัญของไทย
ทั้งนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต การค้า และการขนส่ง เป็นผลให้ราคาสินค้าและบริการในประเทศปรับสูงขึ้น รวมทั้งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่ประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน โดยราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
แต่ปัจจัยดังกล่าวยังไม่ส่งผลไปยังราคาขายปลีกมากนัก เนื่องจากมาตรการการตรึงราคาของภาครัฐ และการที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากโรคโควิด-19 จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 อยู่ประมาณที่ 40,000-42,000 ราย และตลอดทั้งปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 70,000-75,000 ราย
สำหรับประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 475 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 303 ราย คิดเป็น 6% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 191 ราย คิดเป็น 3%
ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนเมษายน 2565 พบว่า มีจำนวน 850 ราย เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 612 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 9,110.66 ล้านบาท ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 95 ราย คิดเป็น 11% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 35 ราย คิดเป็น 4% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 27 ราย คิดเป็น 3%
ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนเมษายน 2565 (ณ วันที่ 30 เม.ย. 65) ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 833,124 ราย มูลค่าทุน 19.83 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 201,500 ราย คิดเป็น 24.19% บริษัทจำกัด จำนวน 630,282 ราย คิดเป็น 75.65% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,342 ราย คิดเป็น 0.16%
นอกจากนี้ ธุรกิจที่น่าสนใจในการจดทะเบียนใหม่ และภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตรถยนต์อีวี ซึ่งจะเห็นว่าจากสถิติปี 2564 มีการผลิตรถยนต์อีวีจำนวน 1.5 ล้านคัน โดยจำหน่ายภายในประเทศเฉลี่ย 7.5 แสนคัน และส่งออกต่างประเทศเฉลี่ย 7.5 แสนคัน โดยเชื่อว่าแนวโน้มและทิศทางการจดทะเบียนธุรกิจในกลุ่มนี้จะมีการเติบโต
ประกอบกับภาครัฐให้การส่งเสริมการเข้ามาลงทุนในประเทศ จะเห็นได้ว่ามีการเข้ามาลงทุนในการผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า แผงวงจร ควบคุมการจ่ายไฟ เมื่อต้นปี 2565 มีผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนลงทุนประมาณ 12 ราย โดยเชื่อว่าอนาคตจะมีการเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น
นายจิตรกร กล่าวอีกว่า การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวเดือนเมษายน 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 50 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 20 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 30 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 9,997 ล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 15 ราย เงินลงทุน 6,715 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 10 ราย เงินลงทุน 1,218 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา จำนวน 8 ราย เงินลงทุน 457 ล้านบาท ตามลำดับ