บาทอ่อน ต่อเนื่อง ช่วยเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ ระวัง เป็น เงินเยน รายต่อไป

บาทอ่อน ต่อเนื่อง ช่วยเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ ระวัง เป็น เงินเยน รายต่อไป

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ยิ่งเงินบาทอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออก เพราะการส่งออก คือ เครื่องยนต์หลักสำหรับเศรษฐกิจไทยตอนนี้ จากการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้น คนระมัดระวังการเดินทางและการใช้จ่าย

ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นรวดเร็วตามราคาน้ำมัน และวัตถุดิบอาหารสัตว์จากภาวะสงครามรัสเซียและยูเครน ยิ่งกดดันการบริโภคให้เติบโตช้า ส่วนภาครัฐ ห่วงหนี้สาธารณะเพิ่มสูง จึงไม่ได้ออกมาตรการกู้เงินรอบใหม่ ขณะที่เงินกู้ที่เหลือราว 7 หมื่นล้านบาท ต้องใช้อย่างระมัดระวังเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนในระยะสั้น แต่ยังยากที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่

การส่งออกสินค้าจึงเป็นความหวัง โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศยุโรป และอาเซียนยังเติบโตได้ แม้ช้าลงจากปีก่อนแต่นับว่าสูงกว่าในอดีตก่อนหน้า ยกเว้น จีน ที่ประสบปัญหาเติบโตช้าจากการควบคุมการระบาดของโควิดในประเทศ แต่น่าจะมีมาตรการทางการเงินและการคลังมาเร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช่วงครึ่งปีหลัง

จึงน่าจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสำคัญของไทย อาทิ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง อาหารแปรรูปและสินค้าเกษตร รวมทั้งน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์จะมีราคาเคลื่อนไหวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ยิ่งเงินบาทอ่อนค่าจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ผู้ส่งออกจึงคาดหวังให้บาทอ่อนค่า

แต่บาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องจะช่วยเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ระวังเงินบาทเป็นเงินเยนรายต่อไป เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลก จากความกังวลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เร่งแรง หรือจากปัญหาราคาน้ำมันแพงที่ส่งผลให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

สะท้อนว่ารายจ่ายมากกว่ารายรับ ประกอบกับเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรเนื่องจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐที่มากขึ้น ล้วนส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว

“คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าช่วงไตรมาสสองไปที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่ต้องกังวลไว้บ้าง นั่นคือหากเงินบาทอ่อนค่าแรงและเร็วเกินไป เช่น จากระดับราว 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงปลายเดือนเมษายน ไปสู่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม

ดร.อมรเทพ จาวะลา

ผู้ส่งออกคงยากที่จะตั้งราคาหรือบริหารงบการเงิน เพื่อดูแลต้นทุนการใช้จ่ายอื่นๆ แสดงว่าบาทอ่อนในภาพเช่นนี้ก็อาจไม่ใช่ผลดีเสมอไป โดยเฉพาะเงินบาทที่อ่อน จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะน้ำมันสูงขึ้น จนอัตราเงินเฟ้อเร่งแรง” ดร.อมรเทพ กล่าว

ซึ่ง ญี่ปุ่น กำลังเผชิญภาพนี้ หลังเงินเยนอ่อนค่าเฉียดระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่า 10% นับจากต้นปี แม้จะเป็นประเทศส่งออกสุทธิ แต่การส่งออกไม่ดีตามคาด ทั้งจากการที่บริษัทเผชิญปัญหาบริหารงบการเงิน ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ การบริโภคได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นเร็ว และมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะแตะระดับ 2% เร็วๆ นี้

สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากบาทอ่อนค่าแรง ในทางทฤษฎี เงินบาทอ่อนค่าจะช่วยการส่งออก การท่องเที่ยว เกิดการลงทุน การจ้างงาน แต่หากอ่อนค่ามากเกินไป จะมีผลให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น เสมือนเงินที่รั่วไหลออกนอกประเทศมากขึ้น การบริโภคอาจไม่ได้เร่งขึ้นแม้มีรายได้จากกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อน เพราะกำลังซื้อแผ่วจากรายได้ที่โตไม่ทันรายจ่าย

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้านำเข้า เช่น น้ำมัน อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี และเหล็ก ส่วนกลุ่มผู้ลงทุนเพื่อส่งออกในอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้ผู้บริโภคในต่างประเทศได้ทั้งหมด กลุ่มที่ต้องอาศัยสัดส่วนการนำเข้าที่สูงเพื่อประกอบและส่งออก อาจไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ จากเงินบาทอ่อนค่าแรงชั่วคราวในช่วงไตรมาสสองนี้ แต่ก็ต้องบริหารต้นทุนด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี