ไก่ไข่อินทรีย์ ครบวงจร หาเทคนิคแปรรูป ขยายสายพาน สู่อาชีพมั่นคง

ไก่ไข่อินทรีย์ ครบวงจร หาเทคนิคแปรรูป ขยายสายพาน สู่อาชีพมั่นคง

แม่ทาออร์แกนิค เป็นกลุ่มวิสาหกิจที่ก่อร่างสร้างตัวจากคนรุ่นใหม่ในชุมชนแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ และประสบความสำเร็จในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกของชุมชน ประสบความสำเร็จในการยกระดับและพัฒนาศักยภาพของคนทำงานอย่างแท้จริง

ความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการวาง ‘รากฐาน’ ที่แข็งแกร่งของคนรุ่นก่อน ผนวกกับการส่งผ่านตัวความรู้ เรื่องราวและประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างฐานสู่คนรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่อง

แม้องค์ประกอบจะครบ กล่าวคือ มีฐานทรัพยากรที่หลากหลาย มีฐานความรู้ด้านการเกษตรของชุมชนที่เหนียวแน่น มีการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและกำลังคนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง อบต.แม่ทา รวมถึงการไม่หยุดนิ่งของคนรุ่นใหม่ในการแสวงหาโอกาสและความรู้ในการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์และทีมงานอย่างต่อเนื่อง

แต่ด้วยทุกวันนี้ผลผลิตส่วนใหญ่ที่กลุ่มแม่ทาออร์แกนิคทำอยู่นั้น มีเพียงแค่ผักและผลไม้ ชุมชนจึงมีความต้องการผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น

คุณยุทธศักดิ์ ยืนน้อย คณะทำงานจากวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค จังหวัดเชียงใหม่ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าว่า คอนเซ็ปต์ของแม่ทาออร์แกนิค เป็นเสมือนศูนย์กลางในการรับผลิตภัณฑ์ของชุมชนออกสู่ตลาด ดังนั้น กระบวนการค้นหาอาชีพจึงต้องตอบโจทย์ชุมชนคือ สามารถทำได้ทุกหลังคาเรือน

“โจทย์จากชุมชนคือความต้องการพัฒนาอาหารที่ปลอดภัยและหลากหลายมากขึ้น เลยอยากส่งเสริมอาชีพเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ เพราะทุกครัวเรือนกินเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว และทุกบ้านก็สามารถเลี้ยงได้”

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้นอกจากจะตอบโจทย์ชุมชนแล้วยังต้องตอบโจทย์หน่วยงานสนับสนุน คือกลุ่มเป้าหมายต้องเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด ตกงาน ถูกลดเวลาทำงาน และยังมีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดที่ใช้สารเคมีประสบปัญหาเรื่องการถูกเอารัดเอาเปรียบจากราคาขาย เราก็ชวนคนเหล่านี้และคนในครอบครัวเขามาเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ร่วมกัน ซึ่งตอนนี้มีกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 50 คน

การส่งเสริมอาชีพเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ของโครงการฯ ไม่ใช่เพียงการซื้อแม่พันธุ์ไก่ไข่มาเลี้ยงในฟาร์มแบบอินทรีย์เท่านั้น แต่พวกเขายังมุ่งหวังสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์แบบครบวงจร

คุณยุทธศักดิ์ เล่าว่า เราตั้งใจให้มีทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่และกลุ่มผลิตอาหารไก่ รวมทั้งสนับสนุนให้มีความเชื่อมโยงหนุนเสริมซึ่งกันและกัน โดยอาหารเลี้ยงไก่จะมี 2 ประเภท คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบอินทรีย์ และหนอนแมลงวันลาย เป็นหนอนที่มีโปรตีนสูงมาก ตั้งใจว่าจะนำมาเป็นส่วนผสมทดแทนโปรตีนที่ต้องซื้อจากภายนอก

ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตอาหารจะส่งต่อให้กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่ ดังนั้น จะทำให้มีถึง 3 อาชีพ คือ 1. กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่ 2. กลุ่มเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย และ 3. กลุ่มปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

“ในโครงการฯ จะแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม ตามแนวทางอาชีพ มีกลุ่มคนเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ประมาณ 10 คน กลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ 10 คน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้จะเป็นคนที่อายุไม่มากเท่าไหร่ เพราะต้องใช้แรงงานในการทำงานค่อนข้างเยอะ ส่วนที่เหลือจะเป็นกลุ่มเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย ส่วนใหญ่จะเป็นแม่บ้านและผู้สูงอายุ เพราะสามารถเลี้ยงหนอนยู่บ้านได้ ไม่ต้องใช้แรงมาก”

ไก่ไข่อินทรีย์

สำหรับกิจกรรมแรกของโครงการฯ คือ การพากลุ่มเป้าหมายไป ‘ศึกษาดูงาน’ การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์และทำอาหารไก่กับผู้รู้ที่มีประสบการณ์ในหลายพื้นที่ของจังหวัดน่าน หลังจากได้เรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ตรงทั้งจากผู้เลี้ยงเลี้ยงไก่ไข่และแหล่งผลิตอาหารไก่อินทรีย์แล้ว ถึงเวลาอบรมและลงมือปฏิบัติจริง มีวิทยากรในการอบรมให้ความรู้เรื่องของการทำโรงเรือนเลี้ยงไก่ เทคนิคการทำอาหาร รวมถึงเรื่องโรคที่เราจะเจอ

ซึ่งการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์จะแตกต่างจากการเลี้ยงไก่ไข่ทั่วไป โดยไก่ไข่ทั่วไปจะเลี้ยงในกรงตับให้ไก่อยู่นิ่งๆ เพื่อให้ไก่กินอาหารสำเร็จรูปและออกไข่ แต่ไก่ไข่อินทรีย์จะเลี้ยงปล่อยในที่กว้าง อาหารที่ให้จะผสมสูตรเองหมด ทำให้ไก่ก็จะสุขภาพดี แข็งแรง ส่วนผลผลิตไข่อินทรีย์ในเรื่องปริมาณอาจจะสู้ไก่เลี้ยงทั่วไปไม่ได้ เพราะไก่อินทรีย์ จะได้ไข่ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนไก่ทั่วไปจะได้ไข่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์

แต่ไข่ไก่อินทรีย์มีคุณภาพมากกว่าและน้ำหนักมากกว่า และที่สำคัญ เวลาปอกไข่ สีจะแตกต่างกัน ไข่อินทรีย์จะมีสีเหลืองนวล ไข่กลมสวย วุ้นของไข่ขาวก็จะไม่แตกเหมือนไข่ทั่วไป ตอนนี้กลุ่มเป้าหมายเลี้ยงอยู่ 600 ตัว ออกไข่ได้ถึง 90-92 เปอร์เซ็นต์ เสียไปประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งนี้ ไก่ที่เลี้ยงจะสามารถเก็บไข่ต่อเนื่องได้ 2-3 ปี

ช่องทางจำหน่าย

ส่วนการผลิตอาหารไก่อินทรีย์ ในกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดจะปลูกโดยใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก รวมถึงสารชีวภาพต่างๆ ทดแทนการใช้สารเคมี ขณะที่กลุ่มเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายจะใช้เศษผักและเศษอาหารที่เหลือใช้จากครัวเรือน หรือจากสวนผักในชุมชนมาเป็นอาหารในการเลี้ยง ซึ่งนอกจากช่วยลดต้นทุนในการผลิตแล้ว ยังเป็นการทำเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในชุมชนด้วย

“หากทำสำเร็จจะช่วยลดต้นทุนค่าอาหารเลี้ยงไก่ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 5-6 บาท จากกิโลกรัมละ 12 บาท โดยทุกวันนี้ไก่จะออกไข่ได้ทุกวัน ต้องกินอาหารที่มีโปรตีน 18 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากปลาป่น กากถั่วเหลืองอบ ต้องซื้อจากข้างนอก ทำให้ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ แต่ถ้าเราเลี้ยงหนอนเองได้จะสามารถนำมาใช้เป็นโปรตีนทดแทน ต้นทุนค่าอาหารจะลดลงมาก และทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้”

ไข่ไก่ปลอดสาร ที่ผ่านการเลี้ยงดูอย่างใส่ใจถูกนำใส่กล่องกระดาษเพื่อส่งขายภายใต้แบรนด์ ‘เล่าฝัน’ ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกภายใต้โครงการฯ เพื่อทำหน้าที่รับซื้อไข่ไก่อินทรีย์จากสมาชิกผู้เลี้ยงไก่ หาตลาดและส่งขายอย่างเป็นระบบ

คุณยุทธศักดิ์ เล่าว่า การตั้งกลุ่มเล่าฝันขึ้นมา จะทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์มีความยั่งยืนแม้จะจบโครงการฯ โดยกลุ่มจะทำหน้าที่เหมือนผู้ประกอบการในการรับซื้อไข่จากสมาชิกไปสร้างรายได้ ซึ่งตอนนี้มีการนำไปขายในชุมชนส่วนหนึ่ง และส่งขายตลาดข้างนอก ทั้งในเมืองเชียงใหม่และกรุงเทพฯ

ราคาขายไข่ไก่อินทรีย์อยู่ที่แผงละ 100 บาท ถ้าเป็นไข่ไก่ทั่วไปแผงละ 80-90 บาท ซึ่งรายได้หลังการจำหน่าย จะเป็นค่าการจัดการต่างๆ เช่น ค่าแรง ค่ากล่อง ค่าน้ำมันรถ และค่าบริหารจัดการของกลุ่ม

ไม่เพียงการขายไข่สด ทางโครงการฯ ยังเชิญเชฟมืออาชีพเข้ามาสอน ‘การแปรรูปไข่’ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไข่ไก่ที่เหลือจากการขาย รวมทั้งยังเปิดกว้างให้คนในชุมชนทั้งแม่บ้านและผู้ประกอบการมาร่วมเรียนรู้การพัฒนาเมนูจากไข่ ซึ่งเป็นการกระตุ้นยอดขายไข่ไก่อินทรีย์ให้แก่กลุ่มเป้าหมายทางอ้อม ขณะที่กลุ่มเป้าหมาย เริ่มมีการแปรรูปไข่ไก่อินทรีย์ เช่น ไข่ดองซีอิ๊ว ไข่ยางมะตูมดองซีอิ๊ว

ซึ่งตอนที่เปิดตัวโครงการฯ ในตลาดแม่ทา ก็มีการนำไปทดลองขาย ก็พอขายได้ รวมทั้งยังสามารถต่อยอดทำเป็นขนมหวานอื่นๆ ได้ด้วย

“หลังจากที่เราทำโครงการฯ เราเห็นแนวทางที่จะต่อยอดสร้างสายพานอาชีพจากการเลี้ยงไก่อยู่หลายเรื่อง ทั้งการแปรรูป การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่สำคัญคือ การเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย ที่แม้ตอนนี้จะทำเป็นแค่อาหารเลี้ยงไก่ แต่หากเราเชี่ยวชาญ เลี้ยงได้เยอะ ก็ยังสามารถขายให้กับกลุ่มที่เลี้ยงนก เลี้ยงปลา ซึ่งก็จะทำให้คนที่เลี้ยงหนอนมีช่องทางการขาย และมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย”

ทุกวันนี้กลุ่มเป้าหมายไม่เพียงมีอาชีพและรายได้จากการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์แบบครบวงจร แต่ด้วยกลยุทธ์ของโครงการฯ ที่ชักชวนคนในครอบครัวมาเรียนรู้ร่วมกัน ยังช่วยสานสัมพันธ์อันดีให้แก่พวกเขามากยิ่งขึ้น

คุณอดิศักดิ์ ต๊ะปวน อายุ 44 ปี อาชีพเกษตรกร กลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า เขามีลูก 2 คน เมื่อก่อนพอลูกเลิกเรียนมาก็ไปเล่นกีฬาเลย ตกเย็นก็กลับมากินข้าวและเข้านอน แต่เดี๋ยวนี้ตั้งแต่เลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ 100 ตัว เลิกโรงเรียนกลับมาก็ต้องช่วยกันดูไก่ คนหนึ่งให้น้ำ อีกคนหนึ่งให้อาหาร แต่ถ้าลูกมีการบ้าน พ่อแม่ก็ไปดูแทน เพราะว่าทั้งครอบครัวทำร่วมกันได้หมด การเลี้ยงไก่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของครอบครัว และทำให้มีความผูกพันกันยิ่งกว่าเดิม

ความสำเร็จจากการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ และการเชื่อมโยงไปสู่อาชีพต่างๆ ในชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง นอกจากจะเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในการทำงานของวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิคแล้ว พวกเขาบอกว่าอีกปัจจัยสำคัญคือ ‘พลังจากเครือข่าย’ ที่เข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือ

“แรกๆ เราทำแบบไม่มีความรู้ ก็ออกไปหาความรู้และประสบการณ์จากข้างนอกกลับมาทำ ก็ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ แต่ที่สำคัญคือ เรามีเครือข่ายที่เรารู้จักเยอะและเขาพร้อมจะมาสนับสนุน ช่วยทั้งความรู้ งบประมาณ เมื่อได้ผลผลิตออกมาแล้วไม่มีที่ขายก็มีหน่วยงานต่างๆ เช่น อบต.แม่ทา กลุ่มเซ็นทรัล และร้านแม่ทาออร์แกนิค Maetha Organic Café ที่เข้ามาช่วย อีกทั้งพอทำไปก็ยิ่งได้เรียนรู้ ได้เครือข่ายมากขึ้น และยิ่งทำก็ยิ่งสนุก ได้เจอปัญหา เจอทางออก และสะสมเกิดเป็นชุดความรู้ขึ้นมา”

สำหรับความมุ่งหวังต่อจากนี้ คุณยุทธศักดิ์ บอกว่า พวกเขาอยากสานต่อการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนของชุมชน โดยตั้งใจเติมองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตได้อย่างเชี่ยวชาญ รวมทั้งหาวิธีลดต้นทุน และขยายตลาดให้มากขึ้น