เตรียมพร้อมผลิตวัคซีนสัญชาติไทย ผลิตยาสมุนไพร เพื่อความมั่นคงสาธารณสุข

เตรียมพร้อมผลิตวัคซีนสัญชาติไทย ผลิตยาสมุนไพร เพื่อความมั่นคงสาธารณสุข

จากการประชุมผ่านระบบออนไลน์ ของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ มี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นรองประธาน

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการสภานโยบายฯ เผยภายหลังว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการเชื่อมโยงกับการทำงานของกระทรวง อว. โดยเฉพาะการผลิตวัคซีน และยารักษาโรคโควิด-19 ของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเร่งด่วนและสำคัญต่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศและชีวิตของประชาชน

โดยขณะนี้มีโครงการพัฒนาวัคซีนของไทยเองกว่า 20 ชนิด หลายโครงการคืบหน้ามาก เช่น โครงการของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (mRNA) อยู่ระหว่างการทดลองในมนุษย์ และโครงการของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Protein Subunit) กำลังจะทดลองในมนุษย์ และในสถาบันวิจัยอีกหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

นอกจากนี้ สิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อม คือ เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานในด้านฐานการผลิต ต้องมีการเตรียมการตั้งแต่วันนี้ ไม่ให้กระบวนการผลิตล่าช้า ซึ่งฐานการผลิตนี้ ไม่เพียงแต่ใช้รองรับการผลิตวัคซีน mRNA หรือ Protein Subunit เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นฐานการผลิต ที่จะรองรับการผลิตวัคซีนหรือยาชนิดอื่นในอนาคตได้ ซึ่งปัจจุบันมีสมุนไพรหลายชนิดที่สามารถนำไปวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดในการผลิตยาได้ เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเข้าไปศึกษาถึงโอกาสในการผลิตยาเหล่านี้ให้มีความชัดเจนขึ้น เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในประเทศ อีกส่วนที่สำคัญ คือ การพัฒนาบุคลากร เนื่องจากการผลิตวัคซีนหรือยาในรูปแบบใหม่อาจเป็นเรื่องที่บุคลากรในประเทศยังไม่คุ้นเคย จึงต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะเข้าไปทำ

สำหรับความก้าวหน้าวาระแห่งชาติการพัฒนาเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Economy Model ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า เป็นอีกประเด็นที่รัฐบาล เน้นย้ำให้ทุกส่วนร่วมกันดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต้องเดินคู่กันสองมิติ ทั้งในด้านการดูแลรับผิดชอบตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และในมุมการมองบีซีจีเป็นเอกภาพ เป็น 3 ส่วนที่ผนึกเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ตอบโจทย์ในระดับสากล เนื่องจากในปัจจุบันผู้นำระดับโลกให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ต้องมีแนวทางสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ สร้างการรับรู้ตั้งแต่ระดับชุมชน เยาวชน สังคม และต้องไม่ลืมคำนึงถึงความยั่งยืนด้วย