กัญชา หากใช้เหมาะสม ช่วยประเทศได้มาก เปลี่ยนจากยาเสพติดเป็นพืชเศรษฐกิจ 

กัญชา หากใช้เหมาะสม ช่วยประเทศได้มาก เปลี่ยนจากยาเสพติดเป็นพืชเศรษฐกิจ 

นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันกัญชาทางการแพทย์ ได้หารือกับหน่วยงานหลักๆ 4 หน่วย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก องค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยมีโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจชุมชน สิ่งแรกที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ เปลี่ยนภาพกัญชาจากยาเสพติดเป็นพืชเศรษฐกิจ กัญชาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากใช้เหมาะสม จะช่วยเศรษฐกิจของประเทศได้มาก

นพ.กิตติ กล่าวต่อว่า เรื่องของกัญชา มีประเด็นที่ต้องนำไปทำการบ้านต่อ 5 เรื่อง คือ

หนึ่ง การปรับแก้กฎระเบียบ และเตรียมความพร้อมของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้มีส่วนช่วยชุมชนผู้ปลูกพืชกัญชาแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชา โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก นพ.ภูวเดช สุระโคตร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่จะมาช่วยบริหารจัดการวางระบบ

นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์

สอง การพัฒนาขั้นตอนการขออนุญาตให้ง่าย ทั้งการปลูก การอนุมัติทะเบียนผลิตภัณฑ์ มีระบบให้คำแนะนำเฉพาะราย เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ในพื้นที่ โดยในส่วนนี้ นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการ อย. จะเป็นหัวเรือใหญ่ในการดำเนินการเรื่องนี้

สาม Demand supply matching ทำให้การใช้และการปลูกสมดุลกัน ซึ่งการใช้ต้องกว้างขวางไปถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่เฉพาะยาเท่านั้น โดยส่วนนี้ นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะทำงานร่วมกับสถาบันกัญชาและเขตสุขภาพ

สี่ พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์กัญชาให้หลากหลาย ทั้งยา ผลิตภัณฑ์ และ consumer products เพื่อเปิดให้วัตถุดิบกัญชาที่จะซื้อจากเกษตรกรให้มีที่ไป มีมาตรฐานวัตถุดิบและราคาอ้างอิงที่เป็นธรรม ตรงนี้ ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม รับไปดำเนินการพัฒนา cannabis unit และมานำเสนอต่อไป

กัญชา

และ ห้า ระบบการกำกับติดตามเรียลไทม์ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์ ทำให้รู้ว่ามีดีมานด์เท่าไร ซัพพลายพอหรือไม่ ตั้งแต่วัตถุดิบ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนนี้ อย. ได้ทำอยู่แล้ว แต่สถาบันกัญชาทางการแพทย์ จะเข้ามาช่วยดู เพื่อแบ่งเบาภาระงานของ อย. ที่มาก และทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับสถาบันกัญชาทางการแพทย์ เป็นหน่วยงานประสาน และเป็นทีมเลขา ของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ในการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวง โดยล่าสุด สถาบันกัญชาทางการแพทย์ ได้รับมอบหมายให้มาดูแลโครงการกัญชา 6 ต้น ร่วมกับเขตสุขภาพต่างๆ ทำขั้นตอนการขออนุญาตให้ง่ายขึ้น