ไม่ใช่แค่ให้กู้ อดีต รมว.คลัง แนะแบ่งเงินกู้ 5 แสนล้าน ช่วยร้านอาหารเสียภาษี

ไม่ใช่แค่ให้กู้ อดีต รมว.คลัง แนะ แบ่งเงินกู้ 5 แสนล้าน ช่วยร้านอาหารเสียภาษี

จากเวที คลับเฮาส์ หัวข้อ กู้ให้ได้ ใช้ให้รอด เงินกู้สำหรับร้านอาหาร ต้องเตรียมตัวอย่างไร จัดโดยสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีตฟู้ด เมื่อคืนวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา คุณกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวตอนหนึ่งว่า ในฐานะที่เคยเป็น รมว.คลัง ที่ผ่านมาจึงพยายามผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนระดับนโยบายเท่าที่จะทำได้ โดยพยายามสื่อสารไปถึงฝ่ายบริการงบประมาณ งบประจำ หรือ งบเงินกู้ ที่ต้องหันมาช่วยผู้ประกอบการโดยตรงมากขึ้น

ซึ่งปีที่แล้ว มี พ.ร.ก.เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำออกมา แต่โครงสร้างเงื่อนไขไม่เอื้อต่อคน “ตัวเล็ก” มาครั้งนี้แบงก์ชาติ ปรับเป็นโครงการ “จับคู่กู้เงิน” ซึ่งดูเหมือนมีความหวังมากขึ้นในการเข้าถึงการกู้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงิน ยังต้องทำหน้าที่ ในแง่การพิจารณาแผนธุรกิจ กระแสเงินสด รวมไปถึงโอกาสการสร้างรายได้ เรื่องเหล่านี้ จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับร้านอาหาร ซึ่งมีเกือบ 3 แสนล้านแห่งทั่วประเทศ กระทั่งทำให้บางร้าน ยังเข้าถึงสินเชื่อได้ยากอยู่ดี

“นอกจากเงินกู้แล้ว ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเรื่องเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ และลดค่าใช้จ่าย เพราะตอนนี้ข้อจำกัดมีมาก ทั้งเรื่องจำกัดการนั่งกินในร้าน ไม่เกิน 25% เวลาเปิดไม่เกิน 21.00 น. และ การห้ามขายแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการหารายได้ ที่ชัดเจนมาก” คุณกรณ์ กล่าว

เวทีคลับเฮาส์

และว่า ที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ล่าสุดมีความพยายามปลดล็อกวัคซีน เพื่อเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งแม้จะเริ่มฉีดกันบ้างแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งต้องทนสถานการณ์แบบนี้ไปอีกประมาณ 2-3 เดือน เมื่อถึงจุดที่มีประชาชนฉีดวัคซีนมากพอจนสถานการณ์ดีขึ้น มาตรการต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ดังนั้นผู้ประกอบการแต่ละราย ต้องประเมินสถานการณ์ว่า หากเปิดร้านเปิดช่วงนี้คุ้มหรือไม่ หรือควรรอไปอีก 2-3 เดือน

“อยากเห็นรัฐบาลมีการจัดสรรงบ โดยเฉพาะงบเงินกู้ก้อนใหม่ 5 แสนล้านบาท แบ่งส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เคยเสียภาษี ซึ่งการช่วยเหลือนี้ ควรเป็นการช่วยเหลือนอกเหนือเงินกู้ เพราะการกู้ในภาวะนี้ สำหรับบางรายอาจเป็นการสร้างและสะสมปัญหาใหม่ซึ่งไม่ใช่การรอดอย่างยั่งยืน รัฐควรพิจารณาประเด็นการลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งคือการจ่ายให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว รัฐสามารถช่วยลดภาระส่วนนี้ได้หรือไม่ รวมถึงข้อเสนอการเข้าถึงเงินประกันสังคม หรือ การลดภาระการจ่ายเบี้ยประกันสังคม ทั้งหมดนี้ต้องคิดให้ครบถ้วนทั้งเงินก้อนมาชดเชย รวมไปถึงการสนับสนุนลดค่าใช้จ่ายและในส่วนของเงินกู้ที่กำลังจะเกิดขึ้น” อดีต รมว.คลัง กล่าว