ส้มโอดีสุดในโลก คือ พันธุ์ทับทิมสยาม เกรดพรีเมี่ยม ราคาจากสวนลูกละ 500

ส้มโอดีที่สุดในโลก คือ พันธุ์ทับทิมสยาม เกรดพรีเมี่ยม ราคาจากสวนลูกละ 500

คุณวาริน ชิณวงศ์ เจ้าของ ชิณวงศ์ฟาร์ม และ อดีตประธานหอการค้า จ.นครศรีธรรมราช เป็นคนหนึ่งที่ตัดสินใจเลือกผลผลิตมีอนาคต อย่าง ส้มโอทับทิมสยาม เป็นสินค้าหลัก โดยเริ่มเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรม เมื่อ 8 ปีที่แล้ว จากเดิมที่เคยทำธุรกิจไอที และเมื่อมีสมาร์ตโฟน เข้ามาแทนที่ ธุรกิจไอทีเริ่มซบเซา ประกอบกับ พ่อของเธออยากให้ทำเกษตร เลยกลับมาเดินตามฝันของพ่อ และเลือกส้มโอทับทิมสยาม

โดยมองเห็นโอกาสว่า พื้นที่ประเทศไทย ปลูกส้มโอได้ดีที่สุดในโลก และ ส้มโอที่ดีที่สุดในโลก คือ ทับทิมสยาม รูปทรงสวย ผิวเนื้อดี รสชาตินุ่มลิ้น และด้วยความที่บ้านดั้งเดิมเป็นคน อ.ปากพนัง ที่ปลูกส้มโอพันธุ์นี้ได้ดีที่สุดในประเทศไทย มีจีไอรับรอง ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำ

คุณวาริน ชิณวงศ์ เจ้าของ ชิณวงศ์ฟาร์ม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 4-5 ปี ที่จะรอให้ส้มโอทับทิมสยามออกผลนั้น คุณวาริน บอกว่า  เป็นคนตัวเล็ก มีทุนรอนไม่สูงนัก จึงต้องทำพืชอื่นผสมผสานไปด้วย จึงเลือกปลูกผักสลัด เพื่อให้ได้เงินในระยะสั้น โดยทำฟาร์มสลัด ที่ อ.ลานสกา ปรุงดินเองทั้งหมด ไม่ได้ใช้ดินเดิม จึงทำให้ผักสลัดของเรา กรอบ หวาน อร่อย ไม่ขม เก็บในตู้เย็นได้นานไม่เสียง่าย ไม่เหมือนผักโฮโดรฯ

ส่วนส้มโอ ตอนนี้ออกผลแล้ว และให้ผลผลิตดี จึงคัดเกรดเป็นพรีเมี่ยมสำหรับส่งออก และโมเดิร์นเทรด  ตกราคาลูกละ 400-500 บาท เกรดตลาดส่งตลาดไทย รวมถึงเกรดที่ปอกขายทั่วไป ก็ส่งในราคาท้องตลาดปกติ

ส้มโอทับทิมสยาม

“การทำเกษตรสมัยใหม่ ต้องทำในแนวทางที่แตกต่าง เราต้องทดลองและลงมือทำเอง โดยมีเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากนักวิชาการมาช่วย อย่างไร่ของเรา มีทีมอาจารย์จาก ม.เกษตรฯ กำแพงแสน มาช่วยชี้แนะ นอกจากนี้ยังต้องมีจำหน่ายในหลายช่องทาง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าตัวจริง” เจ้าของฟาร์มชิณวงศ์ กล่าว

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวถึง โครงการบูรณาการวิจัยและนวัตกรรมที่มีผลทางเศรษฐกิจสูง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผลไม้ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และจะขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ในอนาคต ว่า การยกระดับเกษตรกรให้เป็นเกษตรอัจฉริยะนั้น องค์ความรู้และคณะอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ในมหาวิทยาลัยจะช่วยได้ แต่ที่ผ่านมา อาจลงไปช่วยเกษตรกรน้อย เนื่องจาก นักวิจัย หรือ อาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่สามารถนำผลงานไปขอตำแหน่งทางวิชาการได้ แต่ ปัจจุบันทาง สอวช. กำลังผลักดันให้สามารถทำได้  ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ องค์ความรู้ที่มีอยู่อย่างมากมายในมหาวิทยาลัยได้ลงไปช่วยเกษตรกรได้อย่างจริงจัง อย่างในภาคเหนือ มีอาจารย์ที่รู้เรื่องลำไยมาก ภาคใต้ก็มังคุด ปาล์ม ทุเรียน เป็นต้น