ต้อนรับสังคมสูงวัย พาส่องแนวโน้ม ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุไทย ที่ใกล้จะถึงในปีหน้า

ต้อนรับสังคมสูงวัย พาส่องแนวโน้ม ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุไทย ที่ใกล้จะถึงในปีหน้า

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกำลังเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปีหน้า ซึ่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้นำไปสู่การสร้างโอกาสและเกิดความท้าทายในด้านทักษะแรงงานที่ต้องเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) เพื่อรับมือกับการขาดแคลนแรงงาน โดยเว็บไซต์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจดูแลผู้สูงวัยนี้ว่า

ในปี 2564 (เดือนมกราคม-มีนาคม) มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 52 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 79.31% สำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ พบว่า ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเป็นที่นิยมของผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนการจัดตั้งเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561-2563 โดยในปี 2562 ที่ธุรกิจมีอัตราการเติบโตกว่าปีก่อนหน้ากว่า 50% และในขณะที่ปี 2563 ซึ่งเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ก็ยังคงมีผู้สนใจในธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่องใกล้เคียงกับปี 2562

โดยธุรกิจดูแลผู้สูงอายุปัจจุบัน มีนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 493 ราย มูลค่าทุนรวมทั้งหมดอยู่ที่ 1,615.93 ล้านบาท โดยดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด ซึ่งคิดเป็น 70.99% หรือ 350 ราย รองลงมาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสำมัญนิติบุคคล มีจำนวน 143 ราย คิดเป็น 29.01%

โดยไม่มีการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มากถึง 95.13% การเพิ่มทุนของธุรกิจในปี 2564 (เดือนมกราคม-มีนาคม) จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้น 8 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ซึ่งธุรกิจดูแลผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคกลางเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 65.93% รองลงมาคือ ภาคเหนือและภาคตะวันออก คิดเป็น 14.20% และ 7.72% โดยในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีการจัดตั้งธุรกิจ 3 อันดับแรก ได้แก่ นนทบุรี 70 ราย รองลงมาคือ เชียงใหม่ 37 ราย ปทุมธานีและชลบุรีจังหวัดละ 23 ราย

ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีรายได้จำนวน 460.07 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้จำนวน 772.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน และในปี 2562 รายได้ 1,008.56 ล้านบาท มีนิติบุคคลที่ส่งงบการเงินในปี 2562 ทั้งสิ้น 248 ราย ส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคลขนาดเล็ก (S) ถึง 96%

รายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจมาจากกลุ่มนิติบุคคลขนาดกลาง (M) โดยในปี 2562 กลุ่มนิติบุคคลขนาดกลาง (M) มีรายได้จำนวน 507.71 ล้านบาท ครองสัดส่วนของรายได้ 51% ขณะที่กลุ่มนิติบุคคลขนาดเล็ก (S) มีสัดส่วนรายได้ 49%

สำหรับภาพรวมของกำไร/ขาดทุน (สุทธิ) ของธุรกิจ พบว่าธุรกิจมีผลกำไรในปี 2562 จำนวน 11.05 ล้านบาท มีกำไรเพิ่มขึ้นจากปี 2561 คิดเป็น 1.6 เท่า โดยกลุ่มนิติบุคคลขนาดกลาง (M) เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยมีสินทรัพย์ หนี้สิน และค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีการลงทุนในสินทรัพย์ในปี 2562 เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเข้าก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ