ผลพวงวิกฤต คนไทยท่องเน็ตเพิ่ม ดัน ค้าออนไลน์ ยังโตได้อีก

ผลพวงวิกฤต คนไทยท่องเน็ตเพิ่ม ดัน ค้าออนไลน์ ยังโตได้อีก

จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563 พบว่า มีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 1 ชั่วโมง 3 นาที) สอดคล้องกับผลการผลสำรวจฯ ที่ถามถึงการเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตจากปี 2563 จำนวน 78.3% ของผู้ตอบแบบสำรวจฯ ตอบว่า มีการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้น

อีกเหตุผลหนึ่งมาจากผลกระทบจากโรคโควิด ที่ถือว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้คนไทย หันมาเลือกทำกิจกรรมออนไลน์ แทนการเดินทางจากบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะในที่สาธารณะ

โดยสื่อสังคมออนไลน์ที่ครองใจประชาชนชาวไทย คือ Facebook, YouTube และ LINE โดยผู้ตอบแบบสำรวจฯ ยกให้ Facebook เป็นอันดับที่หนึ่ง คิดเป็น 98.29% รองลงมาคือ YouTube คิดเป็น 97.5% และ LINE คิดเป็น 96.0% ส่วนสื่อสังคมออนไลน์ที่มาแรงในปี 2564 ต้องยกให้ TikTok ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว คิดเป็น 35.8%

จากข้อมูลวิจัยด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเมินว่า อีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่ามากกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณกว่า 270,000 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Priceza บอกว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตต่อเนื่องแบบก้าวกระโดดและยังเป็นธุรกิจดาวรุ่งอันดับ 1 ในปีนี้

โดยเทรนด์ที่ผลักดันให้ตลาดแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลต่อปี คือ โซเชียลคอมเมิร์ซ ที่ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียลงมาเล่นตลาดนี้อย่างจริงจัง เช่น Facebook เปิด Facebook Shops โดยเปิดพื้นที่ขายจากเดิมแบบไร้รอยต่อ ให้ผู้บริโภคซื้อขายโอนเงินจบในแอพ ไม่ต้องออกไปยังเว็บไซต์ของแบรนด์ รวมถึง LINE เองก็ปั้น LINE Shopping อย่างจริงจังมากขึ้น

ขณะที่ e-Marketplace อย่างช้อปปี้ ลาซาด้า และ เจดี เซ็นทรัล จากเดิมที่ผู้บริโภคต้องเข้ามาหา ปัจจุบันแพลตฟอร์มต้องเข้าไปหาลูกค้าเฉพาะกลุ่ม พร้อมจัดโปรโมชั่น โค้ดส่วนลด และการส่งฟรี จูงใจให้ผู้บริโภคมาใช้งานตลอดทั้งสั่งซื้อสินค้า

ขอบคุณที่มา : ธนาคารกรุงเทพ