เผยแพร่ |
---|
อุตสาหกรรมอาหารอ่วม 719 โรงงาน ปิดกิจการเซ่นโควิด ตกงานกว่า 3 หมื่น
จากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม ล่าสุด กรมโรงงานอุตสาหกรรม รายงานปี 2563 มีการแจ้งปิดโรงงานไปทั้งหมด 719 แห่ง คนงาน 29,917 คน เงินลงทุนรวม 41,722.30 ล้านบาท คิดเป็นกำลังเครื่องจักรรวม 679,434 แรงม้า
โดยประเภทกิจการที่มีการปิดสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก 64 โรงงาน จำนวนแรงงาน 2,119 คน เงินทุน 1,502 ล้านบาท รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์จากพืช 62 โรงงาน แรงงาน 585 คน เงินทุน 1,771 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์โลหะ 58 โรงงาน แรงงาน 1,660 คน เงินทุน 1,923 ล้านบาท อุตสาหกรรมอาหาร 52 โรงงาน แรงงาน 3,500 คน เงินทุน 10,704 ล้านบาท และ ผลิตภัณฑ์อโลหะ 52 โรงงาน แรงงาน 786 คน เงินทุน 798 ล้านบาท
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ปี 2563 มียอดขอตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการอยู่ที่ 3,324 โรง มูลค่า 325,393.12 ล้านบาท ใช้แรงงาน 187,088 คน อุตสาหกรรมอาหารมีจำนวนมากที่สุด ซึ่งลดลงต่ำกว่าปี 2562 ที่มีเพียง 200 โรงเท่านั้น จากสถานการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมาก เทียบกับโรงงานที่ปิดมีแค่ 719 โรง มูลค่า 41,722.30 ล้านบาท (ต่ำกว่าปี 2562 ปิดโรงงานไปถึง 1,391 โรง) คนงานหายไปเพียง 29,917 คน
ดังนั้น ปี 2563 จึงถือว่าไทยเก่งและยังมีศักยภาพ เพราะถึงเจอกับโควิด-19 เต็มๆ กลับมีการตั้งโรงงานและขยายกิจการเพิ่ม แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นประเทศไทยอยู่ ที่ผลักดันส่งเสริมการลงทุนในด้านต่างๆ มีความพร้อมในเรื่องของพื้นที่ รวมถึงการที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะนักลงทุนไทย ที่เป็นโอกาสที่จะลงทุนมีอำนาจการต่อรองช่วงที่ต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ตรงนี้มันจะมีผลต่อการจ้างงานอีกเกือบ 200,000 คน
“การเลิกจ้างและปิดโรงงานในช่วงนี้ก็ต้องยอมรับว่า มาจากสภาพเศรษฐกิจและผลกระทบโควิด-19 จะเป็นปัจจัยหลัก อย่างไรก็ตาม อยากให้คิดว่ายังมีโรงงานที่จะเปิดอีกมาก แรงงานเหล่านี้ยังมีโอกาสทำงานในที่ใหม่ๆ ได้ ทั้งนี้ ปี 2564 เชื่อว่าแนวโน้มการตั้งโรงงานจะยังสูงขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนไทยจะยังเป็นตัวหลัก จะเกิดการผลิต ความคึกคักภายในประเทศยังคงมีอยู่” นายประกอบ กล่าว