กลอย ในฤดูฝน มีความเป็นพิษสูง หมอเตือน ทางที่ดีไม่ควรรับประทาน

กลอย ในฤดูฝน มีความเป็นพิษสูง หมอเตือน ทางที่ดีไม่ควรรับประทาน

เว็บไซต์ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ เผยข่าว จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์อาหารเป็นพิษจากพืชในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน (ปี 2559-2563) พบเหตุการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานกลอย รวม 11 เหตุการณ์ พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 172 ราย เสียชีวิต 2 ราย ผู้มีอาการรุนแรงเข้ารักษาในโรงพยาบาล 36 ราย

เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดในเดือนสิงหาคม รองลงมา คือ ธันวาคม กันยายน และมีนาคม ส่วนภูมิภาคที่พบเหตุการณ์สูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผลการสอบสวนโรคพบว่าผู้ปรุงกลอยคาดว่ามีการล้างขจัดสารพิษจากแหล่งที่ขายมาแล้ว จึงไม่ได้ทำการขจัดสารพิษอีกครั้งก่อนที่จะนำมาปรุงอาหาร

จากการพยากรณ์ของกรมควบคุมโรค อาจพบผู้ป่วยจากการรับประทานกลอยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น แสดงความเป็นห่วงประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ที่นิยมนำกลอยมาประกอบเป็นอาหาร

ซึ่งในสมัยก่อนมีวิธีการล้างพิษกลอยด้วยการฝานหัวกลอยเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วนำมาแช่น้ำไหล เช่น ในลำธาร ซึ่งต้องใช้เวลาชะล้างสารพิษไม่ต่ำกว่า 7 วัน หรืออีกวิธีหนึ่ง คือ นำไปแช่ในน้ำเกลือเข้มข้น โดยเกลือจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารไดออสคอรีนในแผ่นกลอยได้เร็วขึ้น แต่ต้องถ่ายน้ำทิ้งหลาย ๆ ครั้ง และใช้เวลาแช่ไม่ต่ำกว่า 3 วัน ซึ่งการรับประทานกลอยให้ปลอดภัยต้องผ่านกรรมวิธีหลาย ๆ ขั้นตอน และต้องมีความชำนาญในการล้างพิษกลอยเป็นพิเศษ

สำหรับสารไดออสคอรีนในกลอยจะผลต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 ดังนั้น คนที่รับประทานกลอยที่มีสารพิษเข้าไปจึงมักมีอาการ คันที่ปาก ลิ้น คอ คลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เกิดอาการ มึนเมา วิงเวียน ใจสั่น ตาพร่ามัว อึดอัด และอาจเป็นลมหมดสติได้

logomain

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับพิษจะมีอาการรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษ ความต้านทานของแต่ละคน โดยมีการศึกษาพบว่าปริมาณสารพิษของหัวกลอยในแต่ละฤดูกาลจะแตกต่างกัน และพบว่ากลอยจะมีพิษมากในช่วงที่กลอยออกดอก คือ ช่วงหน้าฝนประมาณเดือนสิงหาคม ถึงตุลาคม จึงทำให้ผู้ที่รับประทานกลอยในช่วงฤดูฝนจะเป็นอันตรายมากยิ่งขึ้น และข้อมูลจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.) พบว่า “กลอย” มีลักษณะทั่วไปเป็นไม้เถา มีหัวใหม่เกิดขึ้นทุกปีจากส่วนลำต้นใต้ดิน หัวมีขนาดต่าง ๆ กันผิวสีฟาง หรือเทา เนื้อในสีขาวถึงขาวนวล ในหัวกลอยมีแป้งและมีสารพิษที่ชื่อว่า “ไดออสคอรีน” (Dioscorine) พิษชนิดนี้จะมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เนื่องด้วยสารไดออสคอรีนเป็นสารพิษที่สามารถละลายน้ำได้ดี

ดังนั้น หากเอาน้ำละลายสารพิษออกมาได้หมดก็สามารถรับประทานได้ แม้จะมีวิธีกำจัดพิษกลอยที่มีมาแต่โบราณ แต่ก็ยังไม่มีวิธีการใดที่บอกได้แน่ชัดว่ากลอยจะหมดพิษหรือไม่ด้วยการสังเกตจากลักษณะภายนอก ดังนั้น การแช่น้ำไว้หลายวัน หรือการตั้งข้อสังเกตตามคนส่วนใหญ่ที่เชื่อว่าการล้างกลอยไปเรื่อย ๆ จนกว่าเมือกที่ผิวกลอยจะหมดนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยืนยันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าจะไม่มีพิษหลงเหลืออยู่ เพราะสารพิษที่ยังอยู่ภายในเนื้อกลอยอาจยังไม่ซึมออกมาข้างนอก ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังและไม่ควรรับประทานกลอยในช่วงฤดูฝน และไม่ควรให้เด็กรับประทานกลอยจะดีที่สุด เนื่องจากเด็กมีน้ำหนักตัวน้อย สารพิษกระจายตัวในร่ายกายเร็วกว่าผู้ใหญ่

อีกทั้ง เวลาที่เกิดอาการข้างเคียงเด็กจะไม่เข้าใจ หรือสงสัย ด้วยรสชาติกลอยที่มีรสมันเหมือนกินถั่ว ทำให้รู้ตัวเมื่อแสดงอาการมากแล้ว จึงค่อนข้างอันตรายสำหรับเด็ก และที่สำคัญหากรับประทานแล้วเกิดอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422