เปิดวิธีคิด สู้แบบเพนกวิน อะไรคือสิ่งที่ควรทำ ถึงเกิดวิกฤตก็รอดได้  

ชาบูเพนกวิน
ชาบูเพนกวิน

เปิดวิธีคิด สู้แบบเพนกวิน อะไรคือสิ่งที่ควรทำ ถึงเกิดวิกฤตก็รอดได้  

คุณต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้าน ชาบู อีท เพนกวิน เผยตอนหนึ่งในงานสัมมนา “SMEs New Normal” ไปต่อแบบไหน…ถึงจะรอด!?! ที่จัดโดย “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ว่า “แคมเปญสั่งชาบู แถมหม้อ เปรี้ยงตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำ 1 นาทีแรกที่เปิดการจอง มีคนจองเข้ามามากถึง 1,200 ออร์เดอร์ ระบบล่ม จนเกิดดราม่าออนไลน์ ทางร้านออกมาขอโทษและปรับระบบ หลังจากนั้นก็ขายเป็นล็อตๆ เป็นชาบูเจ้าแรกที่ขายหม้อเยอะที่สุดตอนนั้น”

“อีกสิ่งที่ทำให้ชาบูเพนกวินรอดมาได้ คือ เรามีฐานแฟนออนไลน์ ก่อนโควิดมีลูกค้าในเฟซบุ๊ก 5 แสนคน เป็นร้านอาหารที่มีคนไลก์อันดับต้นๆ และเรามีบ่อปลาของตัวเองที่บ้าน ณ วันที่เราไม่มีอาหารกิน เราแค่เลือกเบ็ดตกปลา นี่คือสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องทำหลังจากนี้ ถ้าเราไม่มีปลาในบ่อที่มากพอ วันที่เราจะต้องไปหาปลานอกบ่อ นั่นแปลว่าต้องไปแข่งกับคนที่มีเบ็ดใหญ่ บางคนมีแห อวน เราสู้ไม่ได้หรอก ฉะนั้นต้องสร้างบ่อปลาแล้วเอาคนเข้ามา เราทำมานานหลายปีแล้วก่อนโควิด”

คุณต่อ เผยต่อว่า “คนทำธุรกิจมักจะเข้าใจแต่ตัวเอง ไม่เคยเข้าใจลูกค้า กับตลาด สิ่งที่ควรทำคือ อย่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล เอาลูกค้าเป็นหลัก และทำให้ลูกค้าเห็นว่าคุณมีความตั้งใจ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ พอลูกค้ารู้สึกได้เขาจะเต็มใจแชร์ให้เรา บางคนไม่ได้อยากกินชาบูเลย แต่เขากลัวผมเจ๊ง”

“แนะนำเอสเอ็มอีที่อยากทำออนไลน์ คีเวิร์ดแรกคือแตกต่าง เมื่อไหร่ที่สินค้าไม่แตกต่าง ผู้บริโภคจะเปรียบเทียบที่ราคา แล้วถ้าทำตามคนอื่นต้องไปบิดกันที่ราคา ฉะนั้นต้องทำโปรดักต์ให้แตกต่าง ตอบโจทย์ และแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ ถ้าทำได้จะมีโอกาสเกิดในตลาดได้”

“การสร้างแบรนด์ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ต่างจากมาร์เก็ตติ้ง มาร์เก็ตติ้งคือสิ่งที่เราตะโกนบอกลูกค้าว่าเราเป็นคนยังไง แต่แบรนดิ้งคือสิ่งที่เราทำเรื่อยๆ จนลูกค้าจำภาพว่าเราเป็นคนแบบไหน ฉะนั้นอย่าลืมสร้างแบรนด์ ถ้าแบรนด์เราดี ต่อให้ไม่ทำตลาด ลูกค้าจะเข้ามาหาเราเอง”

“ทุกวันนี้ลูกค้าเห็นพัฒนาการของชาบูเพนกวิน มาตลอดตั้งแต่ 6 ปีที่ผ่านมา เราเป็นแบรนด์ที่แย่ๆ อยู่ข้างถนน แต่สิ่งที่เราทำคือพัฒนาตัวเองขึ้นมาจนลูกค้าคิดถึงเรา ปัจจุบันยอดขายกลับมาเกือบเท่าเดิมแล้ว” คุณต่อ เจ้าของร้านชาบู อีท เพนกวิน กล่าว