สวทช. เชิญผู้ประกอบการงานไม้ร่วมพัฒนา หลังเจอคู่แข่งจากจีน-เวียดนาม หนุนรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์

คุณชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ไอแทป (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า สวทช. โปรแกรม ITAP และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สมาคมธุรกิจไม้ จัดสัมมนา หัวข้อ “ตอบโจทย์ความคิด : ทำธุรกิจเชิงรุกยุคดิจิตอล” ภายใต้โครงการ “การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของ SMEs อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้” โดยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ และผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 50 ราย เพื่อยกระดับการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตไม้ ให้ได้รับการพัฒนาขีดความสามารถทันต่อสถานการณ์การทำธุรกิจยุคดิจิตอล

%e0%b8%8a%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b9%8c%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%97%e0%b8%8a

คุณชนากานต์ กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมไม้ของไทยมีปัญหาหลายอย่างตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะจากแต่ก่อนไทยส่งออกงานไม้ไปยังญี่ปุ่นและอเมริกา แต่ปัจจุบันไม่สามารถแข่งขันในเรื่องราคาได้เพราะมีคู่แข่งจากเวียดนามและจีน สวทช. จึงได้ทำโครงการนี้ขึ้น ตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2561 โดยใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ของไทยให้แข่งขันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีไซน์ คุณภาพ การทำวิจัยและพัฒนาร่วมกัน รวมถึงเรื่องการค้าขายผ่านออนไลน์ด้วย โดยใช้แนวคิดจาก Pizza Model ซึ่งจะรับสมัครบริษัทที่ทำธุรกิจเรื่องไม้เข้าร่วม 10 แห่ง พร้อมทั้งจะมีการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศด้วย

ด้าน คุณจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เน้นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ 6 ด้าน อาทิ 1. การศึกษาโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมไม้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ 2. การสร้างความยั่งยืนเชิงพาณิชย์ 3. การสร้างจิตสำนึกบนพื้นฐานของความถูกต้องทางกฎหมาย 4. สร้างความร่วมมือทางการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้าในระดับภูมิภาคและสากล 5. เตรียมความพร้อมด้านการเงินของแต่ละองค์กร และ 6. มุ่งพัฒนาองค์กรให้พร้อมที่จะเกิดธุรกิจใหม่อยู่เสมอ

%e0%b8%88%e0%b8%b4%e0%b8%a3%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b9%8c

คุณจิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า เมื่อ 15 ปีก่อน ไทยส่งออกอุตสาหกรรมไม้มากถึง 5 หมื่นล้านบาท ตอนนี้เหลือแค่ 3 หมื่นล้านบาท ในขณะที่เวียดนามส่งออกมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท อินโดนีเซีย 1.2 แสนล้านบาท และมาเลเซีย 8 หมื่นล้านบาท จะเห็นว่าไทยส่งออกมูลค่าน้อยลง เนื่องจากเจอปัญหาหลายด้าน อย่างเช่นปัญหากฎหมายเรื่องป่าไม้ ปัญหาการเมืองภายใน และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วยการผลิตขายเฉพาะกลุ่มมากขึ้น และต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบ การผลิต หรือการตลาด รวมทั้งจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งเป็นคลัสเตอร์เพื่อรวมกลุ่มกัน ซึ่งจะทำให้ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐและมีอำนาจต่อรอง