“เด็กปี 4” ต้องเตรียมพร้อม! ก่อนเปิดมุมมอง “งานที่ดี คือ งานที่ทำแล้ว มีความสุข”

“เด็กปี 4” ต้องเตรียมพร้อม! ก่อนเปิดมุมมอง “งานที่ดี คือ งานที่ทำแล้ว มีความสุข”

ฝ้าย-ชนัญญา โคกาอินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นเด็กรุ่นใหม่ กล้าคิด กล้าทำ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายภาษา (ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส) จากประเทศอินเดีย

“เรียนด้านภาษา มีอะไรให้ค้นคว้าอีกเยอะเลยค่ะ ไม่เพียงเสน่ห์ของภาษา แต่ยังได้นำสิ่งที่เรียนมาไปประยุกต์กับอีกหลายๆ เรื่องในชีวิตเลย จำได้ว่าตอนนั้นรู้สึกประเทศอินเดียเขาจะเด่นด้านภาษา และการศึกษามีคุณภาพ รวมทั้งสภาพแวดล้อมก็ดี เมื่อได้ไปสัมผัสจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากสภาพแวดล้อมโรงเรียนไทยมาก หลักสูตรของโรงเรียนที่ประเทศอินเดีย มีหลายแบบ สำหรับโรงเรียนมัธยมปลาย ใช้หลักสูตร ICSE เป็นหลักสูตรต้นตำรับมาจากประเทศอังกฤษ เมื่อครั้งที่ประเทศอินเดียเคยเป็นเมืองขึ้น หลักสูตรนี้สามารถนำไปสมัครเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้เกือบทั่วโลก โดยที่เราไม่ต้องยื่นคะแนนเพิ่มเติม” ฝ้าย เล่าประสบการณ์วัยมัธยมฯ ในต่างแดน

ก่อนเล่าต่อ ระบบการเรียนของประเทศอินเดีย นักเรียนไม่ต้องสอบเก็บคะแนนสะสม จะมีเพียงการสอบวัดผลกลางภาคและปลายภาคเท่านั้น  ถ้าได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์จะต้องซ้ำชั้นทันที ไม่มีการสอบซ่อม จึงเป็นเรื่องที่เด็กนักเรียนทุกคนจำเป็นต้องใส่ใจ ถึงแม้จะมีการแข่งขันสูง แต่เพื่อนๆ จะยินดีช่วยกันเสมอ และจะพยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ผ่านเกณฑ์

ฝ้าย เล่าต่อถึงประสบการณ์ ช่วงเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ว่า ได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และนับเป็นพื้นที่แรกๆ ที่ได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสแบบตลอดเวลา จึงทำให้เกิดความประหม่าและแอบเกร็ง แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่ได้ “ปล่อยของ” ที่เรียนมา จึงต้องลุย

“บรรยากาศในห้องเรียนที่ฮานอย เพื่อนชาวเวียดนาม ค่อนข้างมีความตั้งใจในการเรียนที่สูงมาก ยิ่งการได้รับมอบหมายงานการบ้านต่างๆ พวกเขาไม่ทำแบบขอไปที จึงทำให้นักศึกษาไทยต้องปรับตัวกันนิดนึง และไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาจากประเทศไหนก็ตาม ทุกคนไม่กลัวที่จะใช้คำผิด กล้าที่จะพูด สื่อสารออกไปเป็นภาษาฝรั่งเศสแบบไม่กลัวผิด เพราะจะทำให้มั่นใจและเรียนรู้ไปพร้อมกัน ในทุกคลาสจะมีการโต้ตอบระหว่างครูและนักศึกษา เพื่อให้ได้เห็นมุมมองแลกเปลี่ยนทัศนคติระหว่างกัน” ฝ้าย เล่า

นอกจากโครงการแลกเปลี่ยนที่เปิดโอกาสให้ได้ไปปล่อยของแล้ว ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ยังมีวิชาฝึกงานที่นักศึกษาสามารถเลือกไปฝึกงานในต่างประเทศได้

ฝ้าย เจ้าของเรื่องราว

“ฝ้าย เลือกฝึกงานที่องค์กร Maison de la Thaïlande ที่กรุงปารีส ตำแหน่งผู้ประสานงานค่ะ เหตุผลที่เลือกฝึกงานที่ฝรั่งเศส เพราะอยากลองใช้ภาษาในสถานการณ์จริง การทำงานในกรุงปารีสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องทำงานท่ามกลางชาวฝรั่งเศสที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลักในการสื่อสาร ระบบการทำงานแบบฝรั่งเศสที่มีความแตกต่างจากไทยอยู่มาก สิ่งที่ประทับใจคือ ในการทำงานร่วมกันกับชาวฝรั่งเศสนั้น จะมีความเท่าเทียมเสมอ ถูกคือถูก ผิดคือผิด คนฝรั่งเศสสามารถแยกแยะเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวได้ดี และไม่ก้าวก่ายสิทธิของกันและกัน การฝึกงานที่ประเทศฝรั่งเศสทำให้มีความกล้าและความมั่นใจในการใช้ภาษาฝรั่งเศสมากขึ้น” ฝ้าย บอกอย่างนั้น

ถามถึงเคล็ดลับการเรียนภาษา ต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นภาษาแม่ของเราเอง หรือภาษาต่างชาติก็ตาม ยิ่งเมื่อจำเป็นต้องสื่อสารด้วยการพูด สิ่งสำคัญคือต้องกล้าและมั่นใจ วิธีการจดจำไม่เพียงการท่องจำที่เราทำกันมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ยังต้องลงมือ การเขียนจะช่วยให้จำตัวสะกดได้ การท่องจะทำให้จดจำเสียงได้ดีขึ้น การฟังและการออกเสียงตามจะทำให้เก่งมากขึ้น หากไม่เข้าใจตรงไหน ควรต้องมั่นคลายข้อสงสัย ประกอบการฝึกด้วยการดูหนัง ฟังเพลง จะทำให้คุ้นชินกับภาษานั้นๆ

“งานที่ดี คือ งานที่ทำแล้ว มีความสุข ตอนนี้ได้รับการตอบรับเข้าทำงานที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ ตำแหน่ง Chargée des inscriptions et de suivi des certifications เรียบร้อยแล้วค่ะ ภาระงาน นอกจากติดต่อประสานงานแล้ว ยังต้องดูแลข้อมูลคอร์สเรียนและการสอบของสมาคมด้วย ฝ้ายตั้งใจจะลุยกับงานแรกหลังเรียนจบ อย่างเต็มที่ จะไม่ทำให้เสียชื่อมหาวิทยาลัยรังสิต แน่นอนค่ะ” ฝ้าย ส่งท้ายหนักแน่น