แบงก์กรุงเทพ สานต่อ “โครงการนักเขียนงานปี 6” ชวนชิง 2 หมื่น 40 รางวัล

แบงก์กรุงเทพ สานต่อ “โครงการนักเขียนงานปี 6” ชวนชิง 2 หมื่น 40 รางวัล ปรับสู่ New Normal ค่ายวรรณกรรมออนไลน์

อาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เผยว่า สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น และธนาคารกรุงเทพ ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย ทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การใช้ภาษาจึงเป็นทักษะที่ผู้ใช้ต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การคิดวิเคราะห์ การเขียน การพูด และการดู รวมทั้งต้องใช้ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษาเพื่อสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพและใช้อย่างคล่องแคล่ว มีวิจารณญาณ มีคุณธรรม และมีนิสัยรักการอ่าน

“ถ้านักเรียนมีความรู้ความสามารถในกลุ่มนี้อย่างเหมาะสมกับระดับชั้นแล้ว จะทำให้การเรียนการสอนในกลุ่มประสบการณ์อื่นดำเนินได้ด้วยความราบรื่น และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การอ่านหนังสือทั้งประเภทสารคดีและบันเทิงคดีจะช่วยสร้างเสริมความรู้ของเยาวชนให้ลึกซึ้ง รวมทั้งเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล และก่อให้เกิดปัญญาที่กล้าแกร่ง” อาทร เตชะธาดา กล่าว พร้อมเปิดเผยว่า

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6 ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนให้เยาวชนได้บูรณาการทักษะการอ่าน การคิด และการเขียน โดยผ่านการใช้ภาษาไทยอย่างสละสลวยด้วยความภาคภูมิใจในภาษาประจำชาติ เพื่อให้เอกลักษณ์แห่งวัฒนธรรมทางภาษาไทยได้ยืนหยัดอย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสแห่งโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมทั้งปวง

“โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ และวิจารณ์ ให้แยบคายยิ่งขึ้น พัฒนาทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม พัฒนาศิลปะการเขียนภาษาไทยให้สละสลวยยิ่งขึ้น สร้างเสริมวัฒนธรรมรักการอ่าน สร้างนักวิจารณ์รุ่นใหม่สู่สังคม และให้เยาวชนไทยตระหนักถึงคุณค่าของภาษาไทยมากขึ้น” อาทร เตชะธาดา ระบุ

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6 เปิดให้นักเรียนและนักศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 และ ระดับอุดมศึกษา เขียนบทวิจารณ์หนังสือ 1 เล่ม โดยเลือกจากหนังสือที่ได้รับรางวัลใดรางวัลหนึ่ง ประกอบด้วย รางวัลการประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระหว่างปี 2545-2562, รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์), รางวัลพานแว่นฟ้า และ รางวัลชมนาด ซึ่งผู้เข้าประกวดอาจเลือกหนังสือประเภทสารคดีแนวต่างๆ กวีนิพนธ์ และ นวนิยายคลาสสิก เป็นต้น

โดยคณะกรรมการจะคัดบทวิจารณ์ดีที่สุด 40 บท ได้รับเงินรางวัลคนละ 20,000 บาท รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 800,000 บาท และจะได้เข้าค่ายอบรมงานวิจารณ์วรรณกรรม ในวันที่ 9-10 ตุลาคม 2563 อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการอบรมงานวิจารณ์วรรณกรรม เป็น New Normal ในรูปแบบออนไลน์ครั้งแรก เป็นการเข้าค่ายออนไลน์ โดยให้เด็กๆ ได้อบรมผ่านโปรแกรมซูม เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับวิทยากรจากที่บ้าน และมีกิจกรรมสันทนาการออนไลน์เพื่อละลายพฤติกรรมเด็กๆ ให้เด็กๆ ได้รู้จักกันมากขึ้น ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันทางออนไลน์ โดยยังคงวัตถุประสงค์ของธนาคารกรุงเทพที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้เยาวชนมีความรู้และสร้างสรรค์งานวรรณกรรม พร้อมทั้งให้เยาวชนปรับตัวสู่ยุคดิจิตอลก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอนาคต

“แว้ด” ภัทร์ศยา แก้วยัง นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี ผู้ผ่านการคัดเลือก โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 5 เล่าว่า ส่งบทวิจารณ์นวนิยายเรื่องตลิ่งสูง ซุงหนัก ของ นิคม รายยวา เป็นนวนิยาย รางวัลซีไรต์ ปี 2531 เกี่ยวกับเรื่องราวของคนผู้แสวงหาความหมายและคุณค่าของชีวิต และพบว่าทุกคนมีการเกิดและความตายอย่างละหนึ่งหนเท่ากัน แต่สิ่งที่อยู่ระหว่างกลางนั้นเป็นชีวิต เราต้องหาเอาเอง ตัวเอกคือ “คำงาย” ตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต โดยเห็นว่า คนเรานั้น มัวแต่รักษาซากที่ไม่มีชีวิต ไม่เคยรักษาชีวิตที่อยู่ในซากเลย สิ่งเดียวที่จะเก็บความมีชีวิตนั้นไว้ คือ เลี้ยงมัน รักมัน ถนอมมัน

แว้ด บอกว่า ทราบรายละเอียดโครงการจากรุ่นน้องที่ส่งเข้าประกวด จึงสนใจและส่งเข้าประกวดดูบ้าง พอดีช่วงนั้นอ่านนวนิยายตลิ่งสูง ซุงหนัก อยู่ เลยเขียนบทวิจารณ์เรื่องนี้เข้าประกวด เห็นว่าตลิ่งสูง ซุงหนัก วางแก่นและเล่าเรื่องได้ดี เป็นเรื่องราวที่พบเจอได้ในชีวิตจริง มีกลวิธีเล่าเรื่องน่าสนใจ อ่านแล้วรู้สึกเป็นการเสนอแนวคิดของผู้เขียน ผู้เขียนใช้วิธีให้ตัวละครเป็นคนเล่า เราเป็นผู้อ่าน อาจคิดเหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ เป็นลักษณะการเขียนให้เราคิดต่อยอด ไม่ได้ยัดเยียดให้เราเชื่อตาม

“โครงการนี้ทำให้ได้เข้าค่ายอบรมงานวิจารณ์วรรณกรรม เป็นการส่งเสริมงานวิจารณ์ของเด็กรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้นอกชั้นเรียน อย่างเราเรียนวิชาเอกภาษาไทย มีวิชางานวิจารณ์อยู่แล้ว แต่เรียนเป็นทฤษฎีแบบดั้งเดิม พอไปเข้าค่ายได้พบกับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มีการเสนอมุมมองการวิจารณ์แบบใหม่ มีรูปแบบทฤษฎีใหม่ๆ ให้เรานำมาปรับใช้มากขึ้น

“ส่วนการปรับรูปแบบค่ายอบรมงานวิจารณ์วรรณกรรม มาเป็นการอบรมออนไลน์ในปีนี้ คิดว่าเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด ทำให้คนไม่ต้องรวมตัวกัน ปิดช่องทางการแพร่ระบาดได้” นศ.คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏเทพสตรี เผย

สำหรับนักเรียนและนักศึกษาที่สนใจส่งบทวิจารณ์เข้าประกวด จะต้องมีความยาว 2-4 หน้ากระดาษ A4 ขึ้นไป ฟอนต์ Angsana New ขนาด 16 points ต้องวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นอย่างเที่ยงธรรม มีเหตุผล น่าสนใจ โดยสอดแทรกการสรุปใจความของเรื่องอย่างกระชับและครอบคลุมประเด็นสำคัญ ตลอดจนเรียบเรียงด้วยภาษาที่สละสลวยและนำเสนอด้วยวิธีเขียนที่สร้างสรรค์

ขั้นตอนการส่งไฟล์บทวิจารณ์เข้าประกวด 1. ลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ http://praphansarn.com/scholarships 2. ส่งบทวิจารณ์พร้อมระบุชื่อผู้วิจารณ์ให้เรียบร้อย โดยส่งทางไปรษณีย์พร้อมทั้งถ่ายเอกสารหนังสือที่ใช้เขียนงานวิจารณ์มาด้วยทั้งเล่ม แนบมาที่ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด เลขที่ 222 ถนนพุทธมณฑล สาย 2 (บุษราคัม เทอเรส สาย 2)  แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10170

กำหนดลงทะเบียนและส่งเอกสารทั้งหมด ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2563 โดยพิจารณาจากการลงทะเบียนและส่งเอกสาร ภายในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาตัดสินบทวิจารณ์ที่ได้รับเลือก 40 บท วันที่ 1-31 สิงหาคม 2563 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก 40 คน ทางเว็บไซต์ www.praphansarn.com ในเดือนกันยายน 2563