ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย แนะ 9 ขั้นตอนดูแลสุขภาพจิต ช่วงไวรัสโควิด-19

ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย แนะ 9 ขั้นตอนดูแลสุขภาพจิต ช่วงไวรัสโควิด-19

ดูแลสุขภาพจิตราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ประกาศ 9 ขั้นตอน ในการดูแลสุขภาพจิต ช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า

คำแนะนำในการดูแลจิตใจช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19

สิ่งที่ควรทำ

1. การรับข้อมูล
ควรรับข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข มีการใคร่ครวญไตร่ตรองโดยไม่ใช้ความรู้สึกตัดสิน จะช่วยลดความรู้สึกวิตกกังวลโดยใช่เหตุจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

2. ลดการเสพข้อมูล
การเสพข้อมูลข่าวสารการระบาดของโรคทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ หากเสพข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มากเกินไป จะยิ่งกระตุ้นให้คิดมาก เกิดความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หวาดกลัวตื่นตระหนกมากขึ้น โดยไม่เกิดประโยชน์ในการดูแลตนเองครอบครัวและสังคม การเสพข้อมูลควรเป็นไปเพื่อทราบแนวทางในการป้องกัน ระมัดระวัง ดูแลตนเองตามหลักอนามัย และปฏิบัติตนกับคนในสังคม ได้ถูกต้องเหมาะสม

3. ใช้ชีวิตให้สมดุลเหมาะสมในการดูแลสุขภาพ เช่น การรับประทาน การนอน การออกกำลังกาย การป้องกันการรับเชื้อ/การแพร่เชื้อ ช่วยให้มีพื้นฐานของร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมาก ในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากเชื้อไวรัสนี้

4. การดูแลอารมณ์ความรู้สึกในช่วงที่มีการแพร่ระบาด
ในช่วงการแพร่ระบาด การเกิดอารมณ์เชิงลบ ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น ความเศร้า ความเครียด ความสับสน ความกลัว ความท้อแท้สิ้นหวัง และความโกรธ โดยแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลอารมณ์มีดังนี้
4.1 ตระหนักและยอมรับว่าเรากำลังมีความรู้สึกตึงเครียด เศร้า กังวล กลัว หรือ โกรธ ที่เกิดขึ้นในใจ
เป็นเรื่องธรรมดา การตระหนัก รับรู้และยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลจิตใจที่ดี เพราะ เราได้รับรู้แล้วว่าใจเราตอนนี้มีอาการอย่างไร และกำลังต้องการการดูแล
4.2 หาสาเหตุที่ทำให้เครียด และทำความเข้าใจความเครียดที่เกิดขึ้นในใจ เช่น การทบทวนตนเองว่า เครียดเพราะอะไร กำลังกังวลอะไรในเรื่องนี้ ห่วงอะไร แล้วเขียนสิ่งที่วิตกกังวลต่างๆ ลงในกระดาษ จะช่วยให้ทราบว่า เราวิตกกังวลอะไร ต่อมาเขียนแนวทางในการแก้ปัญหานั้นๆ จะช่วยให้เราได้แนวทางที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ลดการคิดวนเวียน และได้แนวทางที่ดีที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต่อไป การทราบสาเหตุ และเข้าใจที่มาของปัญหาความเครียด ความกังวล จะช่วยให้สามารถหาทางแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
4.3 การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ เช่น เพื่อน คนในครอบครัว เป็นการช่วยลดความตึงเครียดในใจที่ดีแบบหนึ่ง และอาจได้รับวิธีในการแก้ปัญหาหรือการดูแลใจที่ดีมากขึ้น

5. การตั้งสติเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน
การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตปกติอย่างฉับพลันทั้งการทำงาน การเรียน การดำรงชีพ การถูกจำกัดพื้นที่ ปัญหาขาดแคลน อุปกรณ์ป้องกันความเจ็บป่วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ถาโถม จนตั้งตัวไม่ติด เพื่อรับมือให้ทันสถานการณ์ การตั้งสติจึงเป็นส่วนสำคัญมากในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น การตั้งสติแบบง่ายๆ ที่ทำได้ทันทีเวลาเกิดความเครียด คือ การกลับมารับรู้ลมหายใจเข้า-ออก สัก 10 ครั้ง การกลับมารับรู้ลมหายใจเข้า-ออก ช้าๆ ต่อเนื่อง จะช่วยให้จิตใจเราสงบมั่นคงขึ้น และช่วยให้คิดแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น

Self-employed shoemaker or repairman looking at camera during work

6. หางานอดิเรกที่เหมาะสม
งานอดิเรกที่เหมาะสม คือ งานอดิเรกที่ทำให้รู้สึกมีความสุขผ่อนคลาย และอาจช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนในบ้าน โดยควรเป็นกิจกรรมที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

7. การสื่อสารในสังคมออนไลน์
การแชร์ การโพสต์ บทความหรือข่าวสารที่ถูกต้องทางการแพทย์ รวมถึง แนวทางดีๆ ในการดูแลร่างกายและจิตใจ จะเป็นประโยชน์กับคนในสังคม

8. เข้าใจความรู้สึกทุกข์ของติดเชื้อไวรัส COVID-19 และผู้ที่เกี่ยวข้อง
การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเป็นสิ่งที่คาดการณ์และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนมีโอกาสที่จะสัมผัส รับ และแพร่กระจายเชื้อได้ ผู้ที่ติดเชื้อก็มีความทุกข์ใจ กังวลถึงความเจ็บป่วยที่ไม่ทราบว่าจะมีความรุนแรงถึงชีวิตหรือไม่ ควรสื่อความเห็นใจ เข้าใจ ให้กำลังใจแก่ผู้ติดเชื้อ การแสดงท่าทีรังเกียจ จะทำให้บรรยากาศในสังคมยิ่งเป็นทุกข์ หมดกำลังใจ จะส่งผลกลับมาที่จิตใจของเราเองในที่สุด

Portrait of Happy Young couple on the field in spring

9. การส่งความใส่ใจ ความปรารถนาดี และ การช่วยเหลือดูแลกันในสังคม
เป็นสิ่งที่ช่วยให้ใจของเรา คนใกล้ตัว และคนในสังคม มีความสุขมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากในยามที่สถานการณ์มีความยากลำบาก และเป็นหนทางที่ทำให้ทุกคนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกันได้อย่างมีพลัง

สิ่งที่ไม่ควรทำ

1. ไม่ควรแก้เครียดด้วยวิธีที่มีผลลบต่อร่างกาย และ จิตใจ
เช่น การใช้บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดอื่นๆ มาเพื่อช่วยบรรเทาความรู้สึกด้านลบ เพราะจะกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับตนเองมากขึ้น

2. การหาคนผิด การด่าว่ากันในสังคม เช่น ในสื่อสังคมออนไลน์ จะกระตุ้นให้เครียดโดยใช่เหตุ และ สร้างบรรยากาศทางสังคมให้ตึงเครียดยิ่งขึ้น แต่ควรนำสิ่งที่ผิดเหล่านั้นมาเรียนรู้เพื่อเป็นประโยชน์กับชีวิตเรา และคนที่เรารัก

Portrait of beautiful young designer woman working on new design project on laptop at office desk. Attractive model in suit using computer, typing. Interior shot

3. การแสดงการรังเกียจกันในสังคม โดยเฉพาะผู้ป่วย หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัส COVID-19
เพราะการแสดงท่าทีรังเกียจ จะทำให้บรรยากาศในสังคมยิ่งเป็นทุกข์ เพิ่มความรู้สึกย่ำแย่ในทุกฝ่ายรวมถึงตัวเราเองด้วย

4. การแชร์ การโพสต์ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะยิ่งเพิ่มความเข้าใจผิดให้กับคนในสังคม ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดปัญหามากขึ้น