ตลาดข้าวสารพิษณุโลกแห่อุดหนุนคึก ชาวนารวมตัวตั้งสหกรณ์ จัดการแบบครบวงจร

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ที่ถนนราชดำเนิน หน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ยังคงมีกลุ่มเกษตรกรชาวนาจากหลากหลายอำเภอใน จ.พิษณุโลก นำข้าวสารมาวางขายให้กับผู้บริโภค หลังจากนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.พิษณุโลก ได้เปิดตลาดนัดข้าวสารจากเกษตรขายตรงสู่ผู้บริโภค โดยกำหนดให้เปิดขายหน้าศาลากลางได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 เดือน ในช่วงที่ราคาข้าวเปลือกตกต่ำอย่างมาก เพื่อช่วยเหลือเกษตร สำหรับบรรยากาศในวันนี้ ยังคงคึกคักอย่างมาก มีประชาชน ข้าราชการ หลากหลายหน่วยงาน มาช่วยอุดหนุนซื้อข้าวสารจากกลุ่มเกษตร โดยเฉลี่ยแต่ละกลุ่มนำมาขายวันละ 200-300 กิโลกรัม ก็ขายหมดลงในเวลาอันรวดเร็ว

จากการสำรวจบรรยากาศการซื้อขายพบว่า เกษตรกรทุกรายที่นำข้าวสารมาขายหน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลกครั้งนี้ ล้วนรวมกลุ่มในรูปของกลุ่มเกษตรกร บางแห่งก็รวมตัวกันในรูปแบบสหกรณ์ เพื่อเป็นอำนาจต่อรองของเกษตรเอง ในการกำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิก ที่ให้สูงกว่าราคาตลาด กำหนดพันธุ์ และคุณภาพการผลิต บางแห่งก็มีโรงสีของตนเอง และที่เหมือนกันคือ ต่างช่วยกันนำข้าวสารที่ปลูก มาช่วยกันขาย และบริโภคข้าวที่ปลูกกันเอง ข้าวที่ขายวันนี้ เป็นข้าวนาปีฤดูกาลผลิตปี 2558 ที่ค่อย ๆ ทยอยนำมาสีแปรรูปขาย ขณะที่ข้าวนาปีในฤดูกาลผลิต 2559 นี้ กำลังเริ่มทยอยเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเก็บไว้สำหรับแปรรูปขายเป็นข้าวสารในปีหน้า

หนึ่งในหลายกลุ่ม เช่น นางสุพรรณิการ์ อ่อนศรี ประธานกลุ่มปรับปรุงคุณภาพข้าวบ้านหางไหล ม.4 ต.มะต้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ได้รวมกลุ่มเกษตรในพื้นที่ได้ 2 ปีแล้ว มีสมาชิก 48 ราย ปลูกข้าวพันธุ์หอมมะลิ ข้าวกข. พิษณุโลก 2 รับซื้อข้าวปลูกจากสมาชิกในราคาสูงกว่าราคาโรงสี เช่น โรงสีให้ราคาตันละ 6,000 บาท กลุ่มก็รับซื้อจากสมาชิก 8,000 บาท กลุ่ม ได้รับการสนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ จากธกส.สาขาหนองตม อ. พรหมพิราม วงเงิน 500,000 บาท มาตั้งโรงสีชุมชน และ เงิน 200,000 บาท มาลงทุนผลิตข้าว เมื่อสมาชิกปลูกข้าว ก็นำมาขายให้กับกลุ่ม นำมาสีเป็นข้าวสาร สมาชิกก็มาช่วยกันแพ็คใส่ถุง ธกส.สาขาหนองตม ก็ช่วยหาตลาดให้กลุ่ม เมื่อขายหมดแต่ละล็อต ก็นำกำไรมาแบ่งปันให้กับสมาชิก ข้อดีของการรวมกลุ่มคือ ไม่ต้องวิ่งหาซื้อข้าว สมาชิกทำนาทุกคน เราก็แบ่งปันรับซื้อข้าวจากสมาชิกรายละ 1-2 ตัน เป็นการลดการเสียเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

201611081403026-20021028190244-768x512

 

เช่นเดียวกับนายสว่าง มาขอม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลพันชาลี อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า กลุ่มเราทำข้าวปลอดภัย หรือ ข้าวที่ผ่านมาตรฐาน GAP และปีนี้สินค้าข้าวกล้องของกลุ่มได้รับโอทอป 5 ดาว ของจ.พิษณุโลก มีสมาชิกในหลายตำบลในอ.วังทอง อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ใน 1 เดือน เราจะนำข้าวจากสมาชิกมาสี 12 วัน ใน 1 ปี รวมแล้ว สีข้าวจำนวน 144 วัน หรือ จำนวนข้าวเปลือก 288 ตัน จะค่อย ๆ สี และค่อยนำออกมาขาย

ขณะที่ นางประสาทพร ใจพรมเมือง ประธานกลุ่มสตรีแปรรูปบ้านสะพานหิน ม. 3 ต. พรหมพิราม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า รวมกลุ่มกันได้ 2-3 ปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นที่จำนำข้าวแล้วได้เงินล่าช้า และราคาข้าวเปลือกเริ่มตกต่ำ ผลิตข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวขาวหอมมะลิ นำข้าวจากสมาชิกมาสีแปรรูป และออกขายกันเอง และได้ส่วนราชการมาช่วยสนับสนุนการขายทำให้เริ่มขายดีมากขึ้น ขอให้ขายได้ตลอด ให้หน่วยงานช่วยสนับสนุนการขาย ชาวนาก็พออยู่ได้ เงินเราไม่ได้เป็นก้อน แต่ก็ได้เรื่อย ๆ พอแบ่งปันในครอบครัวกัน

ที่มา : มติชนออนไลน์