ไม่ง่ายแต่ทำได้! “ปีติชา ถนอมสิน” กัปตันหญิงแห่งสายการบินนกแอร์

ไม่ง่ายแต่ทำได้! “ปีติชา ถนอมสิน” กัปตันหญิงแห่งสายการบินนกแอร์

คุณปีติชา ถนอมสิน เรียกแบบกันเองว่า คุณมายด์ ปัจจุบันเธอกัปตันหญิงแห่งสายการบินนกแอร์ (Nok Air) แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ บอกเลยว่า…ไม่ง่าย

“เป็นศิษย์เก่ารุ่นที่ RSU04 สถาบันการบิน ที่เลือกมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรังสิต เพราะเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่เปิดหลักสูตรนักบินที่จะได้วุฒิปริญญาตรีแล้วก็ได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี Commercial Pilot License (CPL) ภายใน 4 ปี ถือเป็นทางเลือกที่ดีมาก” คุณมายด์ เริ่มบทสนทนา

ก่อนคุยต่อว่า  หลังศึกษาจบในภาคทฤษฎี เธอเลือกไปฝึกบินที่แคนาดา เพราะอยากได้ประสบการณ์จากการเรียนบินในต่างประเทศ และได้เจอสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างจากเมืองไทย เช่น เข็นเครื่องบินเองทำทุกอย่างเองทั้งหมด ชีวิตอยู่ในความรับผิดชอบของเราเอง เมื่อเรียนจบกลับมาต้องมาสอบ Convert Canada License เป็นThai License (ถ้าเรียนที่เมืองไทยไม่ต้องสอบเทียบ License) ซึ่งหลังจากได้ Thai Commercial Pilot License จึงไปสมัครตามสายการบินต่างๆ ที่เปิดรับและผ่านกระบวนการสอบตามเกณฑ์ของบริษัทนั้น เพื่อเป็นนักบินผู้ช่วย (Co-Pilot)

ซึ่งกระบวนการสอบ มีสอบข้อเขียน จิตวิทยาการบิน สอบสัมภาษณ์ สอบกับเครื่อง Simulator เป็นต้น ซึ่งหลังจากสอบเข้าสายการบินได้ก็จะต้องไปฝึก Training Course ตามแบบเครื่องบินที่เราจะขับในสายการบินนั้นๆ ตามขั้นตอนของการเป็นนักบินผู้ช่วย ซึ่งแต่ละสายการบินจะใช้เครื่องบินรุ่นที่แตกต่างกัน

“นักบินผู้ช่วย (Co-pilot) มีหน้าที่ปฏิบัติงานร่วม และ Support กัปตัน โดยจะมีการตกลงกันว่า เที่ยวบินนี้ใครจะเป็นผู้ขับเครื่องบิน ผู้ขับเครื่องบินจะเรียกว่า PF (Pilot Flying) ส่วนอีกคนก็จะเป็น PM (Pilot Monitoring) เป็นคนที่คอย Support ติดต่อวิทยุ ดูระบบเครื่องบิน ฯลฯ แต่อำนาจการตัดสินใจทุกอย่างจะขึ้นอยู่ที่กัปตัน” คุณมายด์ อธิบาย

กัปตันมายด์

และว่า สำหรับเครื่องบินแบบที่เธอบินอยู่ กว่าที่นักบินผู้ช่วยจะได้เป็นกัปตันนั้น ต้องเก็บชั่วโมงบินอย่างน้อย 3,500-4000 ชั่วโมง ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดจึงจะมีสิทธิ์เข้ากระบวนการประเมิน ซึ่งค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร เมื่อบินมาสักระยะหนึ่งแล้ว ผ่านการประเมินอย่างต่อเนื่องมาทุกระยะ จะได้เป็น Senior Co-Pilot เมื่อมีการเสนอชื่อและผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการฝ่ายการบินของบริษัท จะมีการจัดทดสอบและประเมินผลว่า นักบินผู้ช่วยแต่ละคนมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นกัปตันหรือไม่ โดยให้นักบินอาวุโสหลายๆ ท่านเป็นผู้พิจารณาเป็นระยะๆ เพื่อดูทักษะของนักบินว่ามีอะไรที่ควรแก้ไขปรับปรุงหรือไม่ สังเกตการณ์และทดสอบนักบินใน Simulator อีกครั้ง โดยแต่ละขั้นตอนจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นทั้งการบินปกติและบินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทดสอบ Ground School และสอบหลักสูตรสำหรับกัปตัน ฯลฯ

“เที่ยวบินแรกในตำแหน่งกัปตัน สำหรับมายด์เหมือนการปล่อยบินเดี่ยวครั้งแรก ทั้งดีใจ และตื่นเต้น แต่อีกด้านหนึ่ง รู้สึกว่าเราต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย ต้องทำทุกอย่างตามมาตรฐานเพราะความปลอดภัยของผู้โดยสารมาเป็นอันดับหนึ่ง” คุณมายด์ เล่ายิ้มๆ

ก่อนคุยให้ฟังต่อว่า เวลาทำงาน นักบินหญิงจะได้รับการต้อนรับที่ดีจากผู้โดยสาร เช่น เวลาผู้โดยสารได้ยินเสียงนักบินหญิงกล่าวต้อนรับผู้โดยสาร จะฝากลูกเรือมาชมบ้าง หรือในบางมุม ขณะบินผู้โดยสารมองเห็นเราผ่านกระจกเครื่องบินตอนเครื่องจอดอยู่ก็ยิ้มทักทาย ยกนิ้วโป้งให้ ถือเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมากทำให้มีกำลังใจมากขึ้น

“ในฐานะนักบินหญิงคนหนึ่ง เวลาเดินผ่านนักบินหญิงด้วยกันจะรู้สึกดีมากๆ ที่ปัจจุบันผู้หญิงเริ่มให้ความสนใจที่จะเป็นนักบินกันมากขึ้น จึงอยากบอกให้ทุกคนรู้ว่า ผู้หญิง ผู้ชาย มีความสามารถไม่ต่างกัน ขอเพียงมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ อดทน ไม่ย่อท้อ” คุณมายด์ ทิ้งท้ายไว้อย่างนั้น

 

ที่มา : สารรังสิตออนไลน์