ภาคประชาชนชี้! มาตรการรัฐแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ การฉีดน้ำ

น้ำไล่ฝุ่น
น้ำไล่ฝุ่น

ภาคประชาชนชี้! มาตรการรัฐแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ การฉีดน้ำ 

ข่าวจาก change.org แจ้งว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา กลุ่ม Friend Zone และตัวแทนจากกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ยื่นรายชื่อผู้สนับสนุนแคมเปญ “ออกมาตรการตั้งรับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่จะเกิดขึ้นซ้ำแน่นอน” พร้อมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งทางกรมก็ตอบรับว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่แม้จะมีสัญญาณก้าวหน้าในบางเรื่อง เช่น การออกประกาศบังคับให้รถยนต์ใหม่ใช้มาตรฐาน EURO 6 และการควบคุมควันดำรถ แต่ทางกลุ่มผู้รณรงค์ เห็นว่ายังไม่มีมาตรการและกรอบเวลาที่ชัดเจนเพียงพอในด้านอื่นๆ

“มาตรการของรัฐ ที่ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม คือ การฉีดน้ำ ซึ่งทำได้เพียงชั่วคราว และช่วยลดเฉพาะฝุ่นเม็ดใหญ่ แต่ฝุ่นที่เป็นปัญหาคือฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นละเอียดและขนาดเล็กเกินกว่าที่น้ำซึ่งมีขนาดอนุภาคใหญ่กว่าจะจับฝุ่นได้ ที่สำคัญ การฉีดน้ำอาจไปรบกวนเซ็นเซอร์วัดฝุ่นทำให้การวัดค่าฝุ่นออกมาผิดเพี้ยนได้” ตัวแทนกลุ่มผู้สนับสนุนแคมเปญ “ออกมาตรการตั้งรับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่จะเกิดขึ้นซ้ำแน่นอน” ระบุอย่างนั้น

ก่อนบอกด้วยว่า นาทีนี้ วิกฤตมลภาวะทางอากาศจากปริมาณฝุ่นพิษที่เกินมาตรฐาน ควรต้องได้รับการยกระดับเป็นวาระเทียบเท่า ‘ภัยพิบัติ’ ระดับชาติได้แล้ว เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิตเราทุกคน โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก คนชรา ผู้ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ผู้ทำงานกลางแจ้ง และผู้มีรายได้น้อยที่เข้าไม่ถึงหน้ากากกันฝุ่น ที่สำคัญ ฝุ่นพิษนี้มีแนวโน้มจะหวนกลับมาทุกครั้งที่เกิดภาวะความกดอากาศต่ำ เช่นที่เกิดในปี 2561 และปี 2562 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นคือช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.

“ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน พวกเราจึงขอเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศแผนดำเนินงาน รวมถึงกรอบเวลาดำเนินงานอย่างชัดเจนและโปร่งใสต่อประชาชน ซึ่งมีสิทธิได้รับอากาศสะอาดไว้หายใจ ขอทุกท่านช่วยกันแชร์แคมเปญนี้ ช่วยกันส่งเสียงดังๆ ไปยังภาครัฐ เพราะสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้” นี่คือเสียงของประชาชนและภาคประชาสังคมหลายภาคส่วน

ทั้งยังมีข้อเรียกร้องให้ภาครัฐ ออกมาตรการตั้งรับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่จะหวนกลับมาสร้างวิกฤตอีกอย่างแน่นอน โดยเสนอข้อเรียกร้องมีทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ดังนี้

  1. ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของคนไทย โดยเสนอให้กรมควบคุมมลพิษ “ยกร่างมาตรฐานค่า PM2.5 ในบรรยากาศ” สำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้ค่าเฉลี่ย PM2.5 รายปีมีได้ไม่เกิน 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย PM2.5 ใน 24 ชั่วโมง มีได้ไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ. 2562
  2. ลดจำนวนรถ คุมควันดำ-มีมาตรการลดปริมาณรถยนต์ให้สอดคล้องกับภาวะวิกฤต (เช่น ‘สั่งการ’ งดใช้รถ ไม่ใช่ ‘ขอความร่วมมือ’) อย่างเข้มงวด จับจริง ปรับจริง เนื่องจากรถยนต์และการจราจรที่ติดขัดเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของฝุ่นพิษในเมือง และควันพิษจากรถยนต์จะสูงขึ้นถ้าความเร็วของรถยนต์ต่ำลงเช่นเวลาที่รถติด รัฐควรมีมาตรการห้ามรถบรรทุกเข้าเมืองในช่วงเวลาที่อากาศวิกฤต PM2.5 เกิน 100 หรือสลับวันที่รถวิ่งได้ตามเลขทะเบียน ซึ่งสามารถลดปริมาณรถยนต์ลงได้ครึ่งหนึ่ง รวมไปถึงการตรวจจับรถควันดำอย่างเคร่งครัด เรากำลังเผชิญวิกฤต จึงไม่อาจคาดหวังได้ว่าทุกคนจะใช้ชีวิตบนท้องถนนได้ตามปกติ
  3. พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ให้มีมาตรฐาน ปลอดภัย ราคาเข้าถึงได้ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดใช้รถยนต์ และรองรับผู้คนจำนวนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายลดจำนวนรถในข้อ 2 และมีมาตรการให้ใช้ขนส่งสาธารณะฟรีในวันที่มีวิกฤตฝุ่น

4.เพิ่มพื้นที่สีเขียวตามมาตรฐานสากล นั่นคือ 9 ตร.ม./คน เพราะต้นไม้ช่วยดูดซับมลพิษได้ จากผลการศึกษาของ U.S. Forest Service และสถาบัน Davey ในสหรัฐฯ พบว่าต้นไม้ในเมืองสามารถดูดซับฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 64.5 เมตริกตันต่อปี ในแอตแลนต้า และงานวิจัยจาก TNC หรือ The Natture Conservancy รายงานว่าหากเรามีพื้นที่สีเขียวมากพอ จะสามารถลดปริมาณฝุ่นได้เฉลี่ยร้อยละ 7-24 แต่เมื่อพิจารณาพื้นที่สีเขียวเฉพาะกรุงเทพฯ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างสวนสาธารณะ โดยไม่รวมพื้นที่สนามกอล์ฟหรือพื้นที่เอกชนอื่นๆ จะพบว่ามีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวเพียง 6.4 ตร.ม./คน ซึ่งสัดส่วนนี้ยังไม่นับรวมประชากรแฝง สัดส่วนนี้ถือว่าต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วหลายประเทศ อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างห้างสรรพสินค้า 25 แห่งกับสวนสาธารณะ 25 แห่ง พบว่า พื้นที่สวนสาธารณะน้อยกว่าราว 400 ไร่ ดังนั้น เราจึงขอให้ภาครัฐ 1) ออกกฎหมายควบคุมอาคารให้ห้างสรรพสินค้าทุกแห่งมีพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นการช่วยเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อม 2) เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ โดยนำพื้นที่จากหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือเป็นหน่วยงานกลางเมืองที่คนไม่ได้ติดต่อเป็นประจำ ย้ายไปนอกเมือง และสร้างสวนสาธารณะขึ้นแทน

  1. ขอความจริงและจัดทำฐานข้อมูลมลพิษ เมื่อเกิดวิกฤตฝุ่น รัฐควรนำเสนอข้อมูลสภาวะอากาศอย่างครบถ้วน โปร่งใส ล่วงหน้า ออกในทุกช่องทางรายวัน โดยบอกถึงอันตรายของมลพิษอย่างจริงจังตามจริงและประชาสัมพันธ์วิธีป้องกัน อีกทั้งมีการจัดทำ “ฐานข้อมูลแหล่งปลดปล่อยมลพิษและทิศทางการปลดปล่อยมลพิษ” อย่างชัดเจน ว่ามลพิษที่ปลดปล่อยมาจากแหล่งใด ปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งจะทำให้คุมการเผา และคุมการปล่อยควันพิษของโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง
  2. จัดตั้งหน่วยงานที่เป็น “เจ้าภาพ” แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยขึ้น เรามักหา “เจ้าภาพ” ในการรับผิดชอบไม่เจอ แต่ละหน่วยงานต่างชี้ไปที่หน่วยงานอื่น หรือกล่าวอ้างว่าเพราะติดกฎหมายหรือนโยบายของอีกหน่วยงานซึ่งไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่าย จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เลย ปัญหานี้สามารถแก้ได้โดยเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารเรื่องสิ่งแวดล้อมใหม่ทั้งหมด โดยจัดตั้งองค์กรกลางที่มีลักษณะคล้ายองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอเมริกาหรือ US-EPA (ศึกษาเพิ่มเติมได้ ที่นี่) ซึ่งเกิดจากการที่ทุกกระทรวง และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมจำนวนมาก ยอมสละอำนาจทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมแล้วโยกย้ายมาให้องค์กรใหม่เป็นผู้ถือกฎหมายและบังคับใช้แทน องค์กรใหม่นี้จึงมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งน่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีเอกภาพและได้ผลอย่างแท้จริง

“อากาศ เป็น ทรัพยากรเดียวที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้ร่วมกัน และเรากำลังฆ่าตัวตายหมู่ด้วยกันอย่างช้าๆ ในตอนนี้ จากประสบการณ์การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของทั่วโลก ต่างต้องฝ่าฟันความตึงเครียด ความยากลำบากในการวางนโยบาย การต่อต้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในสังคม ความไม่สะดวกสบายและเสียงบ่นของประชาชนที่ต้องปรับตัว หากรัฐบาลยังไม่วางรากฐานใดๆ และยังไม่ทำอะไรมากไปกว่าฉีดน้ำ เมื่อความกดอากาศต่ำมาเยือนอีกครั้ง พวกเราจะได้สูดอากาศที่เต็มไปด้วยกระสุนเม็ดจิ๋วอย่างแน่นอน” กระแสเรียกร้อง จากภาคประชาชน บอกไว้อย่างนั้น