ชาวบ้านแฮปปี้! หลัง นศ.ไทยยื่นมือช่วยเหลือ พัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างรายได้เพิ่ม

“นักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” ลงพื้นที่ช่วยพัฒนาสินค้าชาวบ้านในชุมชนคลองศาลากุล ตำบลเกาะเกร็ด ด้วยการเพิ่มมูลค่าชารางแดง บรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลา และผลิตภัณฑ์พลาสติกจักสาน ชาวบ้านแฮปปี้ รายได้เพิ่ม ต้นทุนลด  


ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นองค์ความรู้และเทคนิคที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ สืบทอดและเชื่อมโยงจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน การสั่งสมความรู้ ประสบการณ์มาเป็นระยะเวลายาวนาน จะช่วยให้คนในรุ่นถัดไปปรับตัวและอยู่รอดได้

เฉกเช่นชุมชนคลองศาลากุล ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พื้นที่ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่คนละฟากฝั่งกับชุมชนปากเกร็ด ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำสวน เป็นหลัก บางครัวเรือนผลิตสินค้าพื้นถิ่น รวมถึงทำขนมไทยขายเป็นอาชีพเสริม บ้างก็นำสมุนไพรพื้นบ้านมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากชุมชนอีกฟากของเกาะที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการทำเครื่องปั้นดินเผา เดิมสินค้าที่ผลิตขึ้นในชุมชนคลองศาลากุลจะขายให้นักท่องเที่ยวเป็นหลัก ในพื้นที่วัดปรมัยยิกาวาส แต่ปัจจุบันไม่สามารถไปวางสินค้าขายได้ดังเดิม เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ

เมื่อช่องทางขายสินค้าในเกาะถูกตัดขาด ชาวบ้านจึงรวมตัวกันตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้น เพื่อสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มถูกคิดค้นมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อาทิ ชาสมุนไพรหน่อกะลา ชาสมุนไพรรางแดง เป็นต้น

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังช่วยกันหาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า โดยส่วนใหญ่จะเป็นการออกร้านตามห้างสรรพสินค้า หรือตามมหกรรมแสดงสินค้าต่างๆ แต่ด้วยอุปสรรคที่สำคัญคือ การเดินทางลำบากเพราะต้องนั่งเรือข้ามฟาก ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ไม่ยั่งยืน เนื่องจากไม่มีพื้นที่ขายประจำส่งผลให้การค้าขายไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้และการจัดการสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ชุมชนไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนได้

จากปัญหาข้างต้นทำให้ธนาคารออมสินเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ผ่านโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ส่งเสริมให้นักศึกษานำองค์ความรู้ที่ได้เรียนจากภาคทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนารายได้และความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์และบริการของวิสาหกิจชุมชนคลองศาลากุล ประกอบด้วย ชุมชนกระเป๋าผ้า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรและเบเกอรี่ 2 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนางรำ จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดอกไม้ผ้าใยบัว และกลุ่มเกษตรกรทำสวนเกาะเกร็ด จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจและรับทราบปัญหา พบว่า ชุมชนต้องการให้พัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าให้มีความทันสมัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ยกระดับสินค้าชุมชนให้มีความน่าสนใจมากขึ้น รวมไปถึงสินค้าประเภทบริการ และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกัน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับชุมชนด้วย


นางสาวธันย์ชนก ทองนิ่ม (พัฟ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี ตัวแทนกลุ่มสมุนไพรชารางแดง เล่าว่า จากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหา พบว่า ชารางแดง เป็นสินค้าที่มีคุณภาพราคาไม่แพง แต่ขายไม่ค่อยได้ จึงต้องการให้ช่วยหาช่องทางจัดจำหน่าย ทางทีมจึงนำข้อมูลต่างๆ กลับมาวิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุและหาวิธีแก้ไข พบว่า ชารางแดงมีกลิ่นที่ฉุนเกินไป จึงได้คิดค้นในการปรับปรุงกระบวนการผลิต ด้วยการลดไฟในการคั่ว วัดอุณหภูมิและเพิ่มการนวดใบชา จนได้สูตรที่ลงตัว ได้กลิ่นชาที่หอมละมุน หลังจากปรับสูตรและออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น รู้สึกดีใจที่ได้นำความรู้ที่เรียนมา มาช่วยชาวบ้านได้จริง   

ทั้งนี้ สิ่งที่ได้รับคือประสบการณ์หลายด้าน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การหาช่องทางการตลาด รวมถึงการทำงานเป็นทีม ซึ่งประสบการณ์และความรู้จากการลงพื้นที่จริงจะช่วยต่อยอดการทำงานหลังจบการศึกษาได้

นายธนกร พ่วงกลิ่น (ออม) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการตลาด วิทยาลัย CIBA ตัวแทนกลุ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลา บ้านนางรำ กล่าวว่า โจทย์คือช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น 50% ทางทีมได้รับมอบหมายให้ดูแลการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลา เนื่องจากแพ็กเกจเดิมใช้ต้นทุนสูง จึงช่วยกันออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่โดยใช้โทนสีที่เรียบง่าย ใช้วัสดุที่เป็นกระดาษ และนำรูปเจดีย์เอียงที่เป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ดมาเป็นจุดขาย

หลังจากนั้นยังช่วยทำเพจและบู๊ตเพจให้คนเห็นมากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด ผลที่ได้รับหลังจากแก้ไขบรรจุภัณฑ์และบู๊ตเพจกว่า 1 เดือน พบว่า มีการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และหน้าร้านเพิ่มขึ้น 40% ซึ่งเป็นผลที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก จากการสะท้อนปัญหาของชาวบ้านที่ไม่มีหน้าร้านประจำ ทำให้พวกเราช่วยหาช่องทางขายใหม่ขึ้นจนประสบความสำเร็จและตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ได้ไปคลุกคลีกับชาวบ้านทำให้นักศึกษาที่ร่วมโครงการได้ประสบการณ์ที่ดี จึงอยากให้มีโครงการนี้ต่อไป

“ต้องขอบคุณโครงการนี้ ที่เปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปสัมผัสงานจริง เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาและพัฒนาไปพร้อมกับชุมชน จากผลงานที่ช่วยกันสร้างขึ้น ทำให้ทางทีมงานได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย เพื่อไปร่วมโชว์ผลงาน ในพิธีส่งมอบโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นด้วย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง” นายธนกร กล่าว

นางสาวธนภรณ์ เลิศศรีเทียนทอง (นุ่น) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการตลาด วิทยาลัย CIBA ตัวแทนกลุ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลา บ้านนางรำ กล่าวเสริมว่า บรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ออกแบบใหม่นั้นวัตถุดิบที่นำมาผลิตสามารถลดต้นทุนได้ประมาณ 7-8 บาทต่อห่อ ส่งผลให้มีกำไรต่อชิ้นเพิ่มขึ้น สำหรับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เป็นโครงการที่น่าสนใจมาก ทำให้มีโอกาสได้นำความรู้ที่เรียนมาช่วยเหลือชุมชนได้จริง และชาวบ้านในชุมชนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงอยากให้มีโครงการนี้ต่อไป

นางสาวกนิษฐา เรืองฉาง (มุก) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการ วิทยาลัย CIBA ตัวแทนกลุ่มออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกจักสาน กล่าวว่า การลงพื้นที่สำรวจผู้ประกอบการทำให้ทราบถึงปัญหาที่เขาต้องการให้ช่วย ส่วนปัญหาที่พบ ได้แก่ 1. ไม่มีสถานที่ขายสินค้า 2. รูปแบบของสินค้ายังไม่ตอบโจทย์ และ 3. การจัดการขายยังไม่เป็นระบบ

ทางทีมจึงนำความรู้ในสาขาการจัดการมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการออกแบบคู่สีให้อยู่ในโทนเดียวกัน พร้อมแนะนำระบบการขายผ่านระบบออนไลน์ และจัดจำหน่ายสินค้าหน้าร้าน โดยช่วยปรับภูมิทัศน์ให้กับศูนย์จักสานบนเกาะเกร็ด เพิ่มพื้นที่โชว์สินค้า ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาดูวิธีการจักสานและซื้อสินค้าเป็นของที่ระลึก ถือเป็นการสร้างจุดขายสินค้าในระยะยาวได้ หลังจากแนะ นำวิธีแก้ปัญหาด้วยการบูรณาการวิทยาการสมัยใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาดั้งเดิม เกิดจุดเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งดูได้จากยอดขายและการสั่งสินค้าเข้ามาเป็นระยะ รวมถึงการสั่งสินค้าเป็นของชำร่วยในงานมงคลด้วย