“กะเพรา-หัวหอม-กระเทียม-ขิง-ขมิ้น-กานพลู” อาหารเป็นยา ป้องกันโรคเมื่อน้ำท่วม

“กะเพรา-หัวหอม-กระเทียม-ขิง-ขมิ้น-กานพลู” อาหารเป็นยา ป้องกันโรคเมื่อน้ำท่วม

นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า น้ำท่วมใหญ่ ทำให้พี่น้องคนไทยจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ซึ่งนอกจากบ้านเรือนไร่นาเสียหายแล้ว สุขภาพก็น่าเป็นห่วงทั้งผุ้ประสบภัยและผู้ที่ลงไปช่วยเหลือ ดังนั้นเมื่อมีการสัมผัสน้ำ ก็ต้องระวังความเสี่ยงที่น้ำอาจพามาจากการปนเปื้อนจากสิ่งปฏิกูลทั้งของสัตว์และมนุษย์ยามน้ำหลาก ซึ่งจากความเสี่ยงของการติดเชื้อนั้นมีเชื้อโรคที่ต้องระวังไว้ได้แก่ เชื้ออีโคไล จากการปนเปื้อนของสิ่งปฏิกูล เช่น อุจจาระแล้วแพร่กระจายได้ ทำให้เกิดติดเชื้อทางเดินอาหาร มีอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษได้ เชื้อบิด จากแหล่งน้ำธรรมชาติหรือโคลนที่อาจปะปนเข้ามาในแหล่งน้ำดื่ม เชื้อบาดทะยัก จากดิน เชื้อรา จากความชื้นแฉะ เชื้อตาแดง ที่มาจากการสัมผัสน้ำไม่สะอาด

นายแพทย์กฤษดา กล่าวว่า ในช่วงที่น้ำท่วมนี้ มีหลักการใช้ชีวิตที่จะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้อยู่อย่างหนึ่ง คือเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งนอกจากล้างมือให้บ่อย และไม่เอาของปนเปื้อนน้ำเข้าปากแล้ว ถ้าได้มีสมุนไพรในอาหารที่ส่งไปช่วยเหลือซึ่งมีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อในทางเดินอาหารได้ก็จะยิ่งดี ดังมีตัวอย่างสมุนไพรไทยที่ช่วยฆ่าเชื้อได้ เปรียบได้กับยาปฏิชีวนะจากธรรมชาติ ดังนี้

  1. กระเทียม มีการศึกษาพบว่าสารสกัดเข้มข้นจากกระเทียมนั้นช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพดี รวมทั้งเชื้ออีโคไลและเชื้อซัลโมเนลล่าที่พบในอาหารได้ นอกจากนั้น กระเทียม ยังช่วยต้านเชื้อราได้ด้วย โดยเฉพาะกระเทียมสดๆ ซึ่งสิ่งที่ทำง่ายแถมเป็นเครื่องปรุงที่คนไทยมากมายถูกใจคือ “น้ำปลาพริก พร้อมกระเทียมสดสับ”

2. กะเพรา มีการศึกษาพบว่า กะเพราช่วยบรรเทาการติดเชื้อตามแผล อย่าง แผลร้อนในในปาก นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย, ไวรัสและเชื้อรา อีกทั้งช่วยลดการอักเสบด้วย ดังนั้นผัดกะเพราจึงไม่ได้ช่วยแค่แก้หิว

นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ

3. ขิง นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากยกย่องให้ขิงเป็นยาปฏิชีวนะธรรมชาติที่ฟ้าประทานมา ด้วยว่ามีการศึกษาวิจัยจำนวนมากที่เผยว่า ขิงช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียหลายสายพันธุ์ นอกจากนั้น ขิง ยังช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ดังในเวลาที่มีอาการอาหารเป็นพิษ สำหรับเมนูง่ายๆ แทบจะคล้ายของแห้งสะดวกแก่การขนส่งได้แก่ หมูผัดขิง หรือ เนื้อปลาผัดขิง

4. ขมิ้น สมุนไพรสีเหลืองสวย ช่วยให้กับข้าวดูน่ากินหลายอย่างนี้ มีสารสำคัญที่ช่วยต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้คือ “เคอร์คิวมิน-curcumin” ซึ่งสารนี้มีการศึกษาว่ามันช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดกรัมบวกและลบ ที่ทำการแยกออกมาได้ จึงมากกว่าแค่ให้สีสวย อาจเป็นเมนูแห้งๆ รับประทานสะดวกอย่าง ข้าวหมกไก่ หรือ ข้าวผัดคั่วกลิ้ง

5. กานพลู เป็นเครื่องเทศที่หอมหวนชวนให้กลิ่นปากหอม กานพลู มีน้ำมันที่ช่วยลดอาการปวดฟันได้ด้วย มีงานวิจัยที่พบว่า ของเหลวสารสกัดกานพลูนั้นอาจมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียตัวสำคัญคือ อีโคไลได้ด้วย ซึ่งกานพลูอยู่คู่กับอาหารอินเดียหลายชนิด ส่วนของไทยเราอาจทำเป็นพะโล้แห้งใส่กานพลู หรือ หมูอบกานพลูก็ได้

6. หัวหอม มีสารสำคัญเป็นกลุ่มกำมะถันคล้ายในกระเทียม สารนี้มีชื่อว่า ซิสเทอีน ซัลฟ็อกไซด์ (Cysteine sulphoxides) ซึ่งตัวนี้เองมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ ซึ่งอาจทำเป็นเมนูหมูผัดพริกไทยดำใส่หอมใหญ่ก็จะได้ทั้งสารต้านเชื้อจาก “พริกไทยดำ” ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้ออีโคไลและสแตฟฟัยโลค็อกคัส ที่เกี่ยวข้องกับอาหารเป็นพิษได้ด้วย นอกจากนั้นแล้วก็ยังมี “โปรไบโอติกส์” อันเป็นจุลินทรีย์ดีที่มีส่วนช่วยลำไส้ อันจะช่วยคุมประชากรจุลชีพในทางเดินอาหารของเราให้สมดุล มีเชื้อดีมากกว่าเชื้อร้าย

“สำหรับอาหารที่ควรเลี่ยงในช่วงน้ำท่วมมาอย่างนี้ ได้แก่ อาหารที่อาจบูดเสียง่าย เช่น กับข้าวที่ทำใส่กะทิ อย่าง แกงกะทิ, แกงบวด, ขนมกะทิ อีกทั้งของกินที่มีนม-เนย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อท้องเสียได้ง่าย อย่างไรก็ดี การที่รับประทานอาหารโดยเลี่ยงการสัมผัสด้วยมือโดยตรงและเลือกใช้อุปกรณ์รับประทานที่สะอาดนั้น ก็ช่วยให้ความเสี่ยงจากเรื่องอาหารเป็นพิษลดลงได้มากระดับหนึ่ง” นายแพทย์กฤษดา กล่าว