ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ทุนจีนทุ่ม 300 ล้านบาท ตั้งโรงงานทุเรียนแช่แข็ง อ.เทพา จ.สงขลา ตั้งเป้าปี 2562 ยอดขายรวม 720 ล้านบาท รับซื้อทุเรียน 12,000 ตัน วางแผนปี 2563 จับมือเกษตรกร 6 จังหวัด พัทลุง-สตูล-สงขลา-ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส พัฒนาคุณภาพ เตรียมซื้อผลผลิตเพิ่มเป็น 20,000 ตัน ขยายตลาดส่งออก “ทุเรียนสด” พร้อมเร่งโรงคัดบรรจุในพื้นที่ทำ GMP
นายประเสริฐ คณานุรักษ์ ที่ปรึกษาชำนาญการ บริษัท ม่านกู่หวาง ฟู๊ด จำกัด โรงงานผู้ผลิตและจัดจำหน่ายทุเรียนแช่แข็งใน อ.เทพา จ.สงขลา กล่าวว่า ปี 2562 ตั้งเป้าการส่งออกทุเรียนไว้ที่ 12 ล้านกิโลกรัม หรือ 12,000 ตัน จะมียอดขายรวมประมาณ 720 ล้านบาท และปี 2563 คาดว่าจะสามารถรับซื้อทุเรียนเพื่อแปรรูปได้ 20,000 ตัน โดยบริษัทรับซื้อผลผลิตทุเรียนจากเกษตรกรในกลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส รวมถึงสงขลา พัทลุง และสตูลด้วย ทั้งนี้ เมื่อมีโรงงานมาตั้งในพื้นที่ก่อให้เกิดการจ้างงานแรงงานประมาณ 1,200 คน มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 10,000 บาท/เดือน ทำให้มีเงินค่าแรงหมุนเวียนประมาณ 12 ล้านบาทต่อเดือน
“ปัจจุบันสวนทุเรียนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่างมีสวนของเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) แล้วประมาณ 900 ราย จากทั้งหมด 1,000 กว่าราย ที่ผ่านมายอมรับยังมีเกษตรกรจำนวนไม่มากนักที่จะกระตือรือร้นขอ GAP มีเพียงกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจที่มีความพร้อม ซึ่งทางบริษัทมีการพูดคุยกับเกษตรกรให้มีการขอ GAP เพื่อให้สามารถส่งออกได้ โดยสวนทุเรียนที่จะได้ GAP ต้องมีการจัดระบบให้ถูกต้องตามหลักการเกษตร ได้แก่ มีพื้นที่เก็บยา แบ่งสระน้ำ มีระบบการจัดการไม่ให้มีสารตกค้าง และเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค เป็นต้น ส่วนโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ในพื้นที่ดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) โดยทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คอยให้การสนับสนุนการดำเนินการ” นายประเสริฐ กล่าว
นายเจ่า เห็ง เซียว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ม่านกู่หวาง ฟู๊ด จำกัด โรงงานผู้ผลิตและจัดจำหน่ายทุเรียนแช่แข็งใน อ.เทพา จ.สงขลา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยทำโรงงานที่จังหวัดระยองมา 5 ปี และอาศัยอยู่ในเมืองไทยมากว่า 25 ปี ได้เห็นศักยภาพผลผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้มีคุณภาพเนื้อดี ทรงสวยกว่าภาคตะวันออกซึ่งมีทรงใหญ่และเปลือกหนา ทั้งยังมีรสชาติหวานกว่า แต่ไม่มีคนกล้ามาลงทุนจึงตัดสินใจเริ่มทำโรงงานทุเรียนแช่แข็งที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปีนี้เป็นปีแรก ลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท ส่งออกไปขายยังห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ เช่น จีน เมียนมา ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยตั้งเป้าปี 2562 จะรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรทั้งสิ้น 12,000 ตัน และในปี 2563 มีแผนจะส่งออกทุเรียนสดด้วย
“การทำทุเรียนแช่แข็งมีข้อดีกว่าการส่งออกทุเรียนสดในแง่ความสะดวกในการขนส่ง และการแปรรูปจะทำให้เก็บได้นานเป็นปี ไม่ติดปัญหาเรื่องระยะเวลาในการขนส่ง ทั้งทางถนนและทางเรือส่วนใหญ่ส่งไปลงเรือที่ท่าเรือสงขลาและท่าเรือปีนัง รวมถึงลดปัญหาการติดด่านก่อนนำเข้าอีกด้วย สำหรับแผนการส่งออกทุเรียนสดในปีหน้าจะต้องค่อยๆ ร่วมมือกับเกษตรกรปรับปรุงคุณภาพผลผลิต เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการดูแลผลผลิตทุเรียนยังไม่ดีนัก ไม่ได้ฉีดยาทำให้มีหนอน ส่งผลให้การส่งออกมีปัญหาเพราะหากตรวจเจอหนอนจะไม่สามารถนำเข้าประเทศจีนได้”
การทำโรงงานแปรรูปทุเรียนในภาคใต้ เป็นการช่วยสร้างอาชีพให้เกษตรกร เนื่องจากที่ผ่านมาพื้นที่ใกล้กับบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังไม่มีโรงงานแปรรูปทุเรียนมาก่อน ทำให้เมื่อผลผลิตออกในปริมาณมากเกษตรกรจะไม่มีสถานที่ขาย แต่ถ้าหากมีโรงงานจะทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ โดยวิธีการรับซื้อจะมีเกษตรกรขนส่งทุเรียนมาให้ประเมินราคาหน้าโรงงาน แบ่งการรับซื้อเป็น 3 เกรด คือ เกรด A และ B ราคาเฉลี่ยประมาณ 75 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่สูงขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 10% และรับซื้อทุเรียนตกไซซ์ราคา 55 บาท/กก. หรือเท่ากับรับซื้อทั้งหมดเพื่อนำมาแปรรูปเป็นทุเรียนแช่แข็ง ซึ่งการแปรรูปจะแบ่งเป็น 3 ขนาด ได้แก่ ขนาด 250 กรัม, ขนาด 2 กก. และขนาด 4 กก. ทั้งนี้ การส่งออกทุเรียนของบริษัทที่ผ่านมาเป็นการส่งออกโดยตรงด้วยตัวบริษัทเองไม่ผ่านนายหน้าหรือเอเย่นต์
นายเจ่า กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาพรวมตลาดทุเรียนแปรรูปในประเทศไทยนั้น แบ่งเป็นทุเรียนแช่แข็งมีอัตราส่วนใหญ่ที่สุดถึง 50% และประเทศไทยมีการส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปจีนมากถึง 20,000 ตัน/ปี รองลงมาเป็นทุเรียนฟรีซดราย (freeze dried) ส่วนทุเรียนทอดเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มาก ได้รับความนิยมเพียงในประเทศไทยเท่านั้น สำหรับบริษัท ม่านกู่หวาง ฟู๊ด จำกัด มีการส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปยังประเทศจีนราว 5,000 ตัน/ปี หรือ 1 ใน 4 ของอัตราส่วนการส่งออกทุเรียนแช่แข็งทั้งหมดจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน
ส่วนความแตกต่างระหว่างทุเรียนไทยกับมูซันคิงของประเทศมาเลเซียนั้น มองว่าคนจีนชอบมูซันคิงแต่ราคาค่อนข้างแพง ได้ปริมาณน้อย ทำให้ตอนนี้ทุเรียนที่นำเข้าสู่ประเทศจีนเป็นทุเรียนจากประเทศไทยเป็นหลัก และมีปริมาณมากถึง 90% ส่วนพันธุ์มูซันคิงไม่ถึง 5% ของทุเรียนทั้งหมดในประเทศจีน