ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 5/2562 ว่า ที่ประชุมได้รับรายงานความคืบหน้าการเตรียมเสนอ “ต้มยำกุ้ง” เพื่อขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติต่อยูเนสโกให้ทันภายในเดือนมีนาคม 2563
ด้านกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) รายงานว่า ได้ดำเนินการจัดประชุมคณะทำงานด้านการจัดทำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหารไทย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 โดยสาระของ ต้มยำกุ้ง จะเกี่ยวข้องกับมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ใน 3 สาขา คือ สาขาภาษาและมุขปาฐะ สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล สาขาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
คำว่า ต้มยำกุ้ง เป็นคำโดดในภาษาไทย มาจากคำว่า ต้ม และ ยำ ซึ่งมีความหมายที่แสดงกระบวนการทำอาหาร แสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทย เป็นอาหารของคนภาคกลาง ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ติดกับริมแม่น้ำ มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหาร ด้วยการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ในการประกอบอาหาร เช่น กุ้งในแม่น้ำ ต้มลงในน้ำเดือด ปรุงรสด้วยสมุนไพรต่างๆ รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ ถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ช่วยรักษาสมดุลของร่างกายได้
นายวีระ เปิดเผยต่อว่า เพื่อให้ตรงกับเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก ต้องมีการจัดเตรียมข้อมูลให้รอบด้าน โดยกำหนดชุมชนที่เกี่ยวข้องกับต้มยำกุ้งให้ชัดเจน และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน (public hearing) ในการจัดทำมาตรการเพื่อการสงวนรักษา
จากการประชุมคณะทำงานด้านการจัดทำข้อมูลฯ พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สถาบันการศึกษาที่สอนเรื่องต้มยำกุ้ง สมาคมผู้ประกอบการ ผู้ได้รับรางวัลเกี่ยวกับต้มยำกุ้ง และชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการทำเครื่องต้มยำหรือปลูกสมุนไพร พบว่า ในส่วนชุมชนมีการสืบทอดและพัฒนาสร้างสรรค์การทำต้มยำกุ้งอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน ร้านอาหาร และสถาบันการศึกษาทั้งในและนอกระบบที่มีการเรียนการสอน ทำให้สามารถอ้างอิงข้อมูลได้
เมื่อมีการรวบรวมข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องรอบด้านแล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนจัดทำเอกสารตามแบบฟอร์ม พร้อมสื่อต่างๆ เช่น ภาพถ่ายและวีดิทัศน์ จากนั้นจะเสนอให้คณะอนุกรรมการพิจารณาและขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกฯ และนำเสนอคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติและเสนอคณะรัฐมนตรี และจะยื่นเอกสารต่อยูเนสโก ภายใน 31 มีนาคม 2563 เพื่อเข้าสู่รอบการพิจารณาต่อไป