ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของไทย พบว่า คนจนนิยมเล่นหวย ส่วนคนรวยชอบออมเงิน

ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของไทย พบว่า คนจนนิยมเล่นหวย ส่วนคนรวยชอบออมเงิน – BBCไทย

นอกจากวันสิ้นเดือนที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนรอคอยแล้ว ยังมีวันสำคัญอีกสองวันที่มีผู้คนมากมายในประเทศไทยรอคอยนั่นคือทุก ๆ วันที่ 1 และ 16 ของเดือน เพราะนั่นคือวันที่นักเสี่ยงโชคหลายคนมาคอยลุ้นกันว่าพวกเขาจะโชคดีจากการซื้อหวยหรือไม่ ทุกคนคาดหวังว่าเงินที่ได้มาจะช่วยเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาให้สบายขึ้น และช่วยปลดหนี้ที่มีอยู่มากมาย

คนจนนิยมเล่นหวย

การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง และการเล่นหวยก็เป็นตัวการที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนมีหนี้สิ้นขึ้นมากมายโดยเฉพาะนักเสี่ยงโชคที่เลือกที่จะซื้อหวยแบบใต้ดินมากกว่าสลากกินแบบรัฐบาลแบบถูกกฎหมาย

โดยรายงานสถิติกล่าสุดโดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรืออีไอซี ของธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รายงานเรื่องพฤติกรรมการเสี่ยงโชคของคนไทยและพบว่าครัวเรือนรายได้น้อยใช้จ่ายเงินเพื่อ “เล่นหวย” ในสัดส่วนที่สูงกว่าครัวเรือนรายได้สูง และมีเพียง 12 % เท่านั้นที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและมีรายได้จากการถูกรางวัล

ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เปิดเผยยอดคงค้างเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือ “หนี้ครัวเรือนไทย” ว่ามีการขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 12.827 ล้านล้านบาทในไตรมาส 4/2561 โดยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ถึง 2.2%

อ่านข่าว ไก่ย่างจีระพันธ์ ขายแฟรนไชส์ 


คนจนเล่นหวย

อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนที่จัดเก็บโดยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2560 และพบว่าครัวเรือนรายได้น้อยใช้จ่ายเงินเพื่อ “เล่นหวย” ในสัดส่วนที่สูงกว่าครัวเรือนรายได้สูง ครัวเรือนไทยจำนวนกว่า 47% ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยรายจ่ายในส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 37% ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา จาก 3,407 บาทต่อปีต่อครัวเรือนในปี 2552 มาเป็น 4,660 บาทต่อปีต่อครัวเรือนในปี 2560

หวย

ถึงแม้จะมีรายจ่ายซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่สูงขึ้น แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้กลับพบว่า ครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลสูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง โดยจากข้อมูลการสำรวจทั้งหมดพบว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% มีสัดส่วนการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่ที่ 3.7% ต่อรายได้ ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 10% มีสัดส่วนการซื้อสลากฯ อยู่ที่เพียง 0.8% ต่อรายได้

คนรวยออมเงิน

จากสถิติที่อีไอซีรวบรวม ยังพบข้อมูลในทางกลับกันว่า อัตราการออมของครัวเรือนรายได้น้อยกลับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับครัวเรือนรายได้สูง ในปี 2560 อัตราการออมของครัวเรือนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 19% หากเปรียบเทียบจะพบว่า อัตราการออมของครัวเรือนรายได้น้อยต่ำกว่าครัวเรือนรายได้สูงชัดเจน โดยหากนับเฉพาะครัวเรือนที่มีเงินออมมากกว่าหรือเท่ากับศูนย์ ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 10% จะมีอัตราการออมอยู่ที่ 12% ในขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 10% มีอัตราการออมอยู่ที่ 28%

เงิน

Getty Images

ทั้งนี้ครัวเรือนที่มีรายได้จากการถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลจะมีโอกาสในการถูกรางวัลใดรางวัลหนึ่งใน 1 งวดเพียง 1.4% เท่านั้น อีไอซีมองว่า สำหรับครัวเรือนรายได้น้อยยังสามารถเพิ่มสัดส่วนเงินออมหรือการลงทุนของตนได้ง่าย ๆ ด้วยการลดรายจ่ายในการซื้อสลากฯ ลงบ้าง เพื่อนำไปสร้างหลักประกันทางการเงินในอนาคตหรือในยามฉุกเฉิน รวมไปถึงการป้องกันความเสี่ยง เช่น การซื้อประกันชีวิต ซึ่งก็เป็นรายจ่ายอีกประเภทที่มีสัดส่วนอยู่ในระดับต่ำเช่นกันสำหรับครัวเรือนรายได้น้อย

อ่าน คนแห่ปลูก “ต้นรวงผึ้ง” ราคาพุ่ง 7 เท่าตัว

หนี้ท่วมหัว

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนไทย” ว่ามีการขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 12.827 ล้านล้านบาทในไตรมาส 4/2561 ซึ่งสอดคล้องกับการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อรายย่อยหลายๆ ประเภท ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยหนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ถึง 2.2%

รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนในปี 2561 เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยับขึ้นไปที่ 78.6% ในปี 2561 จาก 78.3% ในปี 2560 โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทยเติบโตขึ้น 6.0% สูงกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 5.6% ขณะที่การก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งในส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับภาพรวมของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบการอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินยังคงมุ่งปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่องในปีนี้ อาจทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2562 ยังคงทรงตัวใกล้เคียงระดับปลายปี 2561

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2562 อาจทรงตัวในกรอบประมาณ 77.5-79.5% ต่อจีดีพีจากระดับ 78.6% ต่อจีดีพีในปี 2561 โดยภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในปีนี้ เมื่อผนวกกับภาระหนี้ของครัวเรือนที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากผลของการก่อหนี้ก้อนใหญ่ (หนี้บ้านและหนี้รถ) ที่มีผลผูกพันหลายปี นับจากวันที่ก่อหนี้ อาจมีผลทำให้ครัวเรือนหลายส่วนใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นในการก่อหนี้ก้อนใหม่