ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เอกชนคัดค้าน เก็บภาษีเกลือ ชี้แก้ปัญหาไม่ถูกจุด-ไม่ได้ช่วยเรื่องสุขภาพประชาชนจริงๆ
วันที่ 23 เม.ย. นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการจัดเก็บภาษีเกลือ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จ, ขนมกรุบกรอบ และผงชูรส ไปยังคณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ เนื่องจากทางกลุ่มเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ไม่ได้ช่วยเรื่องการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค และยังเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทำลายขีดความสามารถการแข่งขัน คิดเป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์รวมกว่า 63,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดขนมขบเคี้ยว 36,000 ล้านบาท อาหารกึ่งสำเร็จรูป 16,000 ล้านบาท และผงชูรส 11,000 ล้านบาท
“หากมีการปรับขึ้นภาษีเกลือจะส่งผลต่อภาระต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการภัตตาคาร ร้านค้า แผงลอยและทุกระดับ จนสุดท้ายผู้ประกอบการอาจผลักภาระมายังผู้บริโภค ซึ่งหากคณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือฯ ยังคงเดินหน้าเสนอเรื่องนี้ให้กระทรวงการคลังพิจารณาหลังจากกลุ่มฯยื่นหนังสือคัดค้านไปแล้ว ทางเอกชนก็จะไปยื่นหนังสือคัดค้านที่กระทรวงการคลังเช่นกัน และเราจะไม่ได้ยื่นคัดค้านเพียงอย่างเดียว แต่จะเสนอแนวทางการดูแลสุขภาพให้ถูกต้องด้วย โดยให้ความรู้ผู้บริโภคเพื่อเป็นทางเลือก เช่น ติดเครื่องหมายทางเลือกสุขภาพ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบ” นายวิศิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กลุ่มฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันจัดทำฉลากจีดีเอ เพื่อแสดงค่าพลังงาน ความหวาน ความเค็ม ให้ผู้บริโภคมีข้อมูลทางโภชนาการเปรียบเทียบได้ อย่างไรก็ตาม การบริโภครสเค็มถือเป็นพฤติกรรมการบริโภคส่วนบุคคล ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเมื่อมีการเก็บภาษีเกลือ จะส่งผลให้อาหารที่มีเกลือและโซเดียมเป็นส่วนประกอบมีราคาสูงขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นลดลง เพราะในอาหารอื่นที่รับประทานแต่ละวัน มีองค์ประกอบแหล่งโซเดียมรวมอยู่ด้วย ซึ่งเกลือและโซเดียมนอกจากให้รสเค็มแล้ว ยังช่วยถนอมอาหาร ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์
ปี 2562 ประเมินสถานการณ์การตลาดอาหารในประเทศไทยขยายตัวจากปีก่อนประมาณ 5% มูลค่าตลาด 1.5 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามจากสงครามการค้าส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง เงินบาทแข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันด้านราคา ต้นทุนการบริหารการจัดการ สหรัฐตัดสิทธิโครงการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) 11 รายการ เช่น ทุเรียนสด มะละกอตากแห้ง มะขามตากแห้ง ข้าวโพดปรุงแต่ง เป็นต้น